แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันไม่มีการลงวัน เดือน ปีที่ออกหลักฐานไม่ระบุวงเงินที่ค้ำประกัน โดยเว้นว่างช่องที่จะต้องกรอกรายละเอียดต่าง ๆของสัญญาไว้ทั้งหมดส่วนข้อความตอนท้ายที่ว่า “ตามรายละเอียดสัญญาข้อที่ 1-4 ระหว่างโจทก์และจำเลย” นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นสัญญาฉบับใดและมีข้อความอย่างใดสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียวการตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด แม้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์ โดยระบุยอมใช้หนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 แต่สัญญาดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ที่เว้นช่องว่างเพื่อกรอกรายละเอียดต่าง ๆ โดยมิได้ระบุจำนวนเงินไว้ ดังนั้น ข้อความที่ยอมรับผิดในหนี้สินทั้งหมดจึงเป็นข้อความต่อเนื่องจากข้อความในตอนแรกที่ต้องกรอกจำนวนเงินไว้ก่อน เมื่อสัญญาค้ำประกันไม่กำหนดจำนวนเงินที่จะค้ำประกันไว้ จึงเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์และไม่อาจอนุมานได้ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่าใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์เป็นเงิน 2,400,000 บาทโดยได้รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์อีก 400,000 บาท โดยได้รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ในการกู้ยืมเงินทั้ง 2 ครั้งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดชดใช้หนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ โดยยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ 5,100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อื่นอีกหลายรายจำเลยทั้งสองไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ยืมเงินและไม่เคยรับเงินไปจากโจทก์เลย สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นสัญญาปลอมที่โจทก์จัดทำขึ้นเอง มูลหนี้ตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับทำขึ้นโดยฉ้อฉลเพื่อให้โจทก์มีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากหุ้นส่วนอื่นจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินทั้ง 2 ครั้งและลายมือชื่อในสัญญามิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 แต่เป็นลายมือชื่อปลอม สัญญาค้ำประกันมิได้ระบุยอดวงเงินค้ำประกันเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์ บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้เป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นหนี้โจทก์ จำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้เจ้าหนี้รายอื่นและไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสองมีหลักทรัพย์สูงกว่ายอดหนี้มาก และสามารถชำระหนี้รายอื่น ๆ ได้ทุกราย จำเลยทั้งสองมีอาชีพและรายได้มั่นคง จำเลยที่ 2 มีอาชีพรับราชการซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคงและเปิดร้านอาหารกับรับเหมาก่อสร้างเป็นอาชีพเสริมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปหลายครั้งรวมเป็นเงิน 2,400,000 บาทจำเลยที่ 1 ทำหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2539เอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์อีก 400,000 บาทตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 และทำบันทึกข้อตกลงไว้ว่าเป็นหนี้โจทก์อีก 5,100,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 2 ได้ยอมผูกพันตนเองเข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้สินต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ทั้งหมดโดยตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆจำเลยที่ 2 ยินยอมชำระหนี้ให้จนครบถ้วนในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 เห็นว่า เมื่อโจทก์ยืนยันว่าจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์ และเมื่อเทียบเคียงลายมือชื่อตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 กับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในใบตอบรับของไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.11 และที่ปรากฏในสำนวนแล้วมีลักษณะคล้ายกันการที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าเป็นลายมือชื่อปลอมก็เป็นการกล่าวอ้างแต่เพียงลอย ๆ ทั้งลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งปรากฏตามเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนดังกล่าวก็สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างชัดเจนโดยโจทก์ไม่จำต้องขอให้มีการส่งไปตรวจพิสูจน์ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 จริง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 หรือไม่ เห็นว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีการลงวันเดือน ปีที่ออกหลักฐานและไม่ระบุวงเงินที่ค้ำประกัน โดยเว้นว่างช่องที่จะต้องกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ของสัญญาไว้ทั้งหมด และข้อความตอนท้ายที่ว่า “ตามรายละเอียดสัญญาข้อที่ 1 – 4 ระหว่าง นายวิวัฒน์ ตรีอุดมกับนางสาวฉัตรชฎา เชษฐพันธ์” นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นสัญญาฉบับใดและมีข้อความอย่างใด แม้โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ทำหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2539 เอกสารหมาย จ.1 สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 และบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยที่ 2 รับทราบตลอด แต่ในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ก็มิได้ระบุรายละเอียดว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้คราวใดและมีจำนวนเงินเท่าใดที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิด ซึ่งสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงเป็นไปโดยเคร่งครัด ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์โดยระบุว่าใช้หนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 แต่ในสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงแบบที่พิมพ์ไว้โดยเว้นช่องว่างเพื่อกรอกรายละเอียดต่าง ๆโดยมิได้ระบุจำนวนเงินไว้ ดังนั้น ข้อความที่ว่ายอมรับผิดในหนี้สินทั้งหมด จึงเป็นข้อความต่อเนื่องจากข้อความในตอนแรกที่ต้องกรอกจำนวนเงินไว้ก่อน เมื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ไม่กำหนดจำนวนเงินที่จะค้ำประกันไว้จึงเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์และไม่อาจอนุมานได้ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่าใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษายืน