คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบพาดพิงว่าจำเลยที่ 3 ได้เกี่ยวข้องกับการยักยอกตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ฟ้องดังนี้ เท่ากับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำการตามที่โจทก์ฟ้อง มิได้ฟังว่าจำเลยที่3 กระทำการตามที่โจทก์ฟ้องแล้วแต่เห็นว่าการกระทำนั้นไม่เป็นผิดกฎหมายดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นก็ได้สั่งว่าคดีมีมูลสำหรับจำเลยที่ 1-2 ฉะนั้นมูลคดีที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องเป็นฐานความผิดเดียวกันการกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นกรณีเดียวกันซึ่งเข้าข้อกฎหมายเข้าในเหตุลักษณะคดีคดีของโจทก์ต้องมีมูลทั้ง 3 คนนั้น จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ข้อที่ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ใช่ตั๋วใช้เงินธรรมดาแต่เป็นตั๋วมีเงื่อนไขให้หักเงินค่าจ้างจากผลงานชดใช้เงินตามตั๋วได้ซึ่งจำเลยก็ทราบดี เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ข้อที่ว่า เท่าที่โจทก์นำพยานบุคคลและพยานเอกสารเข้าสืบต่อศาล พอฟังได้ว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าคดีโจทก์มีมูล ก็เป็นการเถียงข้อเท็จจริง

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายกรุงเทพ – นครปฐม ไว้จากกรมทางหลวงแผ่นดินต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงจ้างโจทก์ให้ทำการขุดทราย ฯลฯ มาทำถนนสายที่จำเลยที่ 1 รับเหมาตามสัญญานี้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้โจทก์สองล้านบาทเพื่อใช้จ่ายในกิจการที่รับจ้าง ต่อมาจำเลยจ่ายให้เพียง 1,350,000 บาท การที่โจทก์รับเงินล่วงหน้าจากจำเลยที่ 1โจทก์ได้นำหลักทรัพย์ประกัน คือ ทะเบียนเรือ 1 ฉบับ ตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งราคา 500,000 บาท อีกฉบับหนึ่งราคา 650,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 1 รับไว้เป็นประกัน มีข้อตกลงและเป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายคิดบัญชีเรื่องงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าโจทก์จะต้องจ่ายเงินคืนแก่จำเลยที่ 1 เท่าใด ก็ให้เบิกจากหลักประกันที่โจทก์ให้ไว้ คือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน

ต่อมาจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างตามผลงานที่โจทก์ทำได้ทุก 7 วัน เป็นเหตุให้การงานของโจทก์ต้องเสียหาย โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์ได้ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 2 ฉบับ ไปใช้ เพราะจำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าจ้างและค่าเสียหายแก่โจทก์เกือบสิบล้านบาท

ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2507 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2507 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันยักยอกตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 2 ฉบับไปเป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 โดยสลักหลังโอนให้ธนาคารแห่งอินโดจีนเรียกเก็บจากธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา 1,150,000 บาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น อันเป็นการยักยอกหนังสือหลักประกันหนี้ซึ่งโจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 รับมอบไว้ ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ทราบความจริงว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิด จึงไม่ยอมจ่ายเงินให้ตามหนังสือสัญญาใช้เงิน จำเลยร่วมกันทุจริตทำการยักยอกนั้น

ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 352, 353

ศาลชั้นต้นรับประทับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ไม่รับประทับฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเฉพาะที่สั่งไม่รับฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นสั่งว่าอุทธรณ์โจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ไม่รับอุทธรณ์

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าสมคบร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายฐานยักยอกทรัพย์ ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีมีมูลสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อมูลคดีที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องเป็นฐานความผิดเดียวกัน และการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีเดียวกันซึ่งเข้าข้อกฎหมายเข้าในลักษณะคดีแล้ว คดีของโจทก์มีมูลทั้ง 3 คนที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่มีมูลสำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่ถูกต้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบพาดพิงว่าจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องกับการยักยอกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่ากับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำการตามที่โจทก์ฟ้องมิได้ฟังว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำการตามที่โจทก์ฟ้องแต่เห็นว่าการกระทำนั้นไม่เป็นผิดตามกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง

ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด ออกและมอบให้จำเลยไว้ไม่ใช่ตั๋วสัญญาใช้เงินธรรมดา แต่เป็นตั๋วมีเงื่อนไขให้หักเงินจากผลงานชดใช้เงินตามตั๋วได้ ซึ่งจำเลยที่ 3 ย่อมทราบดีนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริง

ข้อที่โจทก์ว่า เท่าที่โจทก์นำพยานบุคคลและพยานเอกสารเข้าสืบต่อศาลพอฟังได้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าคดีโจทก์มีมูล ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งว่าไม่มีมูล เห็นว่าโจทก์จะเถียงไม่ได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์พอฟังได้ว่าคดีมีมูล เพราะเป็นการเถียงข้อเท็จจริงคดีนี้ศาลชั้นต้นก็อาศัยแต่ข้อเท็จจริงว่าคดีไม่มีมูล ฉะนั้น “คดีมีมูลหรือไม่” จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมาย

พิพากษายืน

Share