คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีพ.ศ. 2522 ข้อ 68 วรรคแรก ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผยณ สถานที่ที่ทรัพย์ที่จะขายตั้งอยู่ด้วย ตามก็เพื่อประสงค์จะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดทรัพย์เท่านั้น และระเบียบดังกล่าวไม่เป็นกฎหมาย แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้นำประกาศขายทอดตลาดไปปิดไว้ ณ สถานที่ที่ทรัพย์ที่จะขายก็ตาม แต่ทั้งโจทก์และจำเลยได้ทราบการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 แล้วเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อนุญาตให้ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินและสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินและสูงกว่าราคาที่โจทก์เสนอประมูลในการขายทอดตลาดครั้งที่ผ่านมา ถือได้ว่าการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยชอบตามมาตรา 308 วรรคแรก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 739,321.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์โดยจำเลยยอมผ่อนชำระเป็นงวด โดยงวดแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นและยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนให้โจทก์จนครบหากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้บังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 66985 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดีและได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1/10 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินออกขายทอดตลาดต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาด นางเพ็ชรา รัตนภูมิภิญโยประมูลให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 1,780,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่นางเพ็ชราผู้ซื้อทรัพย์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532
โจทก์และจำเลยยื่นคำร้องว่าในการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งและนำประกาศขายทอดตลาดไปปิดที่บ้านเลขที่ 1/10 ถนนพัฒนเวศน์ ซึ่งจำเลยอาศัยอยู่และที่ดินดังกล่าวอยู่ติดถนนพัฒนเวศน์มีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 25,000 บาท เนื้อที่ 1 งาน 20 ตารางวา คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท สิ่งปลูกสร้างอีกราคาประมาณ1,000,000 บาท รวมเป็นราคาไม่ต่ำกว่า 4,000,000 บาทแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายไปเพียง 1,780,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาเป็นจริง หากจำเลยทราบการขายทอดตลาดจะต้องไปดูแลการขายและค้านราคาก่อนวันขายทอดตลาดจำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้จำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้แล้ว โจทก์จึงมิได้ไปนำขายทอดตลาดทรัพย์โดยโจทก์เข้าใจว่า หากโจทก์ไม่ไปนำขายเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องงดการขายทอดตลาดไว้ก่อน ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้ประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยสุจริตและเป็นราคาที่เหมาะสมแก่สภาพและที่ตั้งของทรัพย์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ปิดประกาศขายทอดตลาดโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทรัพย์ตั้งอยู่ ซึ่งผิดระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีพ.ศ. 2522 ข้อ 68 วรรคแรก การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทและให้ประกาศขายใหม่ ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาที่บ้านเลขที่ 164 แขวงวัดพระยาไกร เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ค.5 ในการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทวันที่ 4 ธันวาคม 2532 นั้น โจทก์และจำเลยได้รับหมายประกาศนัดขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 66985พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเลขที่ 1/10 ตั้งอยู่ที่ซอยพัฒนเวศน์แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินราคารวมเป็นเงิน 480,000 บาท โดยเป็นราคาที่ดินตารางวาละ 2,400 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างราคาเป็นเงิน 180,000 บาท เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ประเมินราคาตารางวาละ 8,000 บาทตามเอกสารหมาย ค.4 ในนัดขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทวันที่1 กรกฎาคม 2530 โจทก์และจำเลยมาดูแลการขายโดยโจทก์ได้ประมูลซื้อในราคาสูงสุดเป็นเงิน 900,000 บาท แต่จำเลยได้คัดค้านว่าราคาต่ำ เจ้าพนักงานจึงไม่ได้ขายและได้มีการประกาศขายใหม่โดยเลื่อนมาขายทอดตลาดในวันที่ 4 ธันวาคม 2532ปรากฏว่า ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้ในราคาเป็นเงิน 1,780,000 บาทดังมีรายละเอียดปรากฏตามรายงานการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2533 ซึ่งราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคาท้องตลาดจริง แต่ผู้ซื้อเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ว่า การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในปัญหานี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ปิดประกาศขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไว้โดยเปิดเผย ณสถานที่ที่ทรัพย์พิพาทตั้งอยู่ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522ข้อ 68 วรรคแรก นั้น จะเป็นเหตุให้การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นการขายที่มิชอบหรือไม่ เห็นว่าแม้ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ68 วรรคแรก จะกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่ทรัพย์ที่จะขายตั้งอยู่ด้วยก็ตาม แต่ข้อกำหนดดังกล่าวก็เพื่อประสงค์จะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดทรัพย์เท่านั้นและระเบียบดังกล่าวก็หาได้เป็นกฎหมายไม่ แม้คดีจะได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้นำประกาศขายทอดตลาดไปปิดไว้ณ สถานที่ที่ทรัพย์ที่จะขายก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าทั้งโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้ทราบการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 แล้วเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อนุญาตให้ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคา 1,780,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินและสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร และสูงกว่าราคา 900,000 บาทที่โจทก์เสนอประมูลในการขายทอดตลาดครั้งที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด เช่นนี้ถือได้ว่าการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 วรรคแรกที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของ โจทก์และจำเลยเสีย

Share