คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4846/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีซึ่งบริษัทอ.ฟ้องบริษัทป.และศาลได้มีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษายึดและอายัดทรัพย์สินของบริษัทป.หลายรายการรวมทั้งรถยนต์พิพาทด้วย ต่อมา น. ยื่นคำร้องขัดทรัพย์และขอให้ปล่อยรถยนต์ 3 คันที่ถูกยึดรวมทั้งรถยนต์พิพาทโดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางประกันไว้ต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งปล่อยรถยนต์พิพาทที่ยึดไว้ และศาลมีคำสั่งอนุญาตดังนี้ หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหลักประกันเพื่อให้ น. นำรถยนต์พิพาทไปใช้ชั่วคราว โดยหากเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างรถยนต์พิพาทอยู่ในความครอบครองของ น. ก็สามารถบังคับเอาค่าเสียหายจากหลักประกันดังกล่าวได้ คำสั่งของศาลมิได้หมายความว่าให้นำหลักประกันมาแทนรถยนต์พิพาท และคดีที่มีการร้องขัดทรัพย์ก็ยังดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เพื่อให้ทราบว่ารถยนต์ที่พิพาทเป็นของผู้ใด เมื่อ น. มีสิทธิเพียงนำรถยนต์พิพาทไปใช้ชั่วคราวและศาลมิได้ชี้ขาดว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ น. น.ย่อมไม่มีสิทธินำรถยนต์พิพาทไปจำหน่ายจ่ายโอน แต่เมื่อ น.ขายรถยนต์พิพาทให้ อ. และโจทก์ก็ได้ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตจาก อ. ซึ่งประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าขายรถยนต์โจทก์จึงไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมา และโจทก์ไม่อาจถูกรอนสิทธิเพราะได้รับความคุ้มครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ฉะนั้นการที่กรมสรรพากรจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรบริษัท ป. และได้มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของบริษัทป.รวมทั้งรถยนต์พิพาทหลังจากคดีร้องขัดทรัพย์ถึงที่สุดให้รถยนต์พิพาทเป็นของบริษัทป.มีหนังสือถึงผู้บังคับการกองทะเบียนยานพาหนะกรมตำรวจให้ระงับการโอนทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงรายการต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจึงเป็นการรอนสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ง-9495 กรุงเทพมหานคร โดยซื้อจากผู้มีชื่อซึ่งเป็นพ่อค้าผู้ประกอบกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ใช้แล้วในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อให้โจทก์เป็นเจ้าของแล้ว ต่อมาจำเลยมีหนังสือถึงผู้บังคับการกองทะเบียนยานพาหนะ กรมตำรวจให้ระงับการโอนทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงรายการต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งยึดอายัดรถยนต์และหรือหนังสือระงับการโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการต่าง ๆในทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ง-9495 กรุงเทพมหานคร ฉบับที่กท.0006 (กอ.)/27092 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2530 ของจำเลย และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากพ่อค้าผู้ประกอบกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ใช้แล้วในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ใช้แล้วโจทก์ครอบครองรถยนต์โดยไม่สุจริต และไม่ได้เสียค่าตอบแทน รถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทปัญญามิตร จำกัดและบริษัทดังกล่าวเป็นหนี้ภาษีอากรค้างชำระแก่จำเลยรวม33,971,102.45 บาท จำเลยจึงมีสิทธิสั่งยึดและอายัดรถยนต์พิพาทได้ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า บริษัทโอทิส เอลิเวเดอร์ จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทปัญญามิตร จำกัด ตามคดีหมายเลขดำที่ 13764/2523 หมายเลขแดงที่ 11174/2527 ของศาลชั้นต้นและในคดีดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษายึดและอายัดทรัพย์สินของบริษัทปัญญามิตร จำกัด หลายรายการรวมทั้งรถยนต์พิพาทด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2526 นางสาวนงนุช บุญพารานนท์ ยื่นคำร้องขัดทรัพย์และขอให้ปล่อยรถยนต์ 3 คันที่ถูกยึดรวมทั้งรถยนต์พิพาทโดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย มาเป็นประกันจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำสั่งศาลชั้นต้น ลงวันที่11 ตุลาคม 2526 เอกสารหมาย จ.1 นางสาวนงนุชจึงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย ฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2526 มาเป็นประกันแทนโดยตีราคารถยนต์พิพาทเป็นเงิน 420,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วนำรถยนต์พิพาทไป ต่อมานางสาวนงนุชขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่นายอนุสรณ์ เสนาวรรณ และนายอนุสรณ์ขายต่อให้แก่โจทก์ ในที่สุดผลของคดีร้องขัดทรัพย์ศาลฎีกาพิพากษาว่ารถยนต์พิพาทเป็นของบริษัทปัญญามิตร จำกัด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484-3486/2530 เอกสารหมาย ล.1 และไม่ปรากฏว่าธนาคารกสิกรไทยได้นำเงินที่ประกันไว้มาวางศาล หรือมีการเรียกร้องเอาจากนางสาวนงนุชแต่อย่างใด กรมสรรพากรจำเลยแจ้งการประเมินให้บริษัทปัญญามิตร จำกัด ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีพ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2520 และภาษีการค้าในปี พ.ศ. 2518ถึงปี พ.ศ. 2520 และปี พ.ศ. 2522 รวมเป็นเงิน 33 ล้านบาทเศษตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 บริษัทปัญญามิตร จำกัด อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของบริษัทปัญญามิตร จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2527กรมสรรพากร จำเลยจึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของบริษัทปัญญามิตร จำกัด ตามคำสั่งและบัญชีทรัพย์ที่ถูกยึดเอกสารหมาย ล.4รถยนต์พิพาทรวมอยู่ในบัญชียึดทรัพย์ดังกล่าวด้วย และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2530 จำเลยแจ้งคำสั่งระงับการโอนทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงรายการต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทไปยังกองทะเบียนกรมตำรวจตามเอกสารหมาย จ.4 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทแล้วหรือไม่ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยรถยนต์พิพาทจากการยึดอายัดเพราะนางสาวนงนุชได้ให้ธนาคารกสิกรไทยทำสัญญาค้ำประกันโดยตีราคารถยนต์พิพาทไว้เป็นเงิน 420,000 บาท ซึ่งธนาคารจะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางต่อศาลเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด และสามารถบังคับคดีเอาจากธนาคารกสิกรไทยได้ รถยนต์พิพาทจึงมิได้ถูกยึดหรืออายัดไว้ต่อไปเมื่อนางสาวนงนุชรับรถยนต์มาแล้วได้โอนขายให้นายอนุสรณ์พ่อค้าผู้ขายรถยนต์ในตลาดนัดซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ ก่อนที่จำเลยจะมีคำสั่งอายัดรถยนต์คันพิพาท และนายอนุสรณ์ได้ขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์นั้น เห็นว่า การที่นางสาวนงนุชนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางประกันไว้ต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งปล่อยรถยนต์พิพาทที่ยึดไว้ เป็นเพียงหลักประกันเพื่อให้นางสาวนงนุชนำรถยนต์พิพาทไปใช้ชั่วคราวโดยหากเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างรถยนต์พิพาทอยู่ในความครอบครองของนางสาวนงนุชก็สามารถบังคับเอาค่าเสียหายจากหลักประกันดังกล่าวได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมิได้หมายความว่าให้นำหลักประกันมาแทนรถยนต์พิพาท และคดีที่มีการร้องขัดทรัพย์ก็ยังดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเพื่อให้ทราบผลว่ารถยนต์ที่พิพาทเป็นของผู้ใด ดังนั้นเมื่อนางสาวนงนุชมีสิทธิเพียงนำรถยนต์พิพาทไปใช้ชั่วคราวและศาลมิได้ชี้ขาดว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวนงนุช นางสาวนงนุชยอมไม่มีสิทธินำรถยนต์พิพาทไปจำหน่ายจ่ายโอน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ซื้อรถยนต์จากพ่อค้าผู้ขายรถยนต์ในท้องตลาดโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจึงไม่จำต้องคืนรถยนต์ให้เจ้าของที่แท้จริงนั้น เห็นว่าพยานโจทก์จำเลยที่นำสืบรับกันฟังได้ว่า นายอนุสรณ์ เสนาวรรณ มีอาชีพขายรถยนต์อยู่ตลาดรถสวยของนางกฤษณ์ บุญพิเชฐ โดยประกอบอาชีพนี้มาประมาณ 7-8 ปี เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตจากนายอนุสรณ์ซึ่งประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าขายรถยนต์ โจทก์จึงไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่เจ้าของที่แท้จริงเว้นแต่จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาและโจทก์ไม่อาจถูกรอนสิทธิเพราะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 ที่จำเลยมีหนังสือที่ กท. 0006 (กอ.)/27092 ลงวันที่2 ตุลาคม 2530 ถึงผู้บังคับการกองทะเบียนยานพาหนะกรมตำรวจให้ระงับการโอนทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงรายการต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์พิพาท จึงเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งหรือหนังสือให้ระงับการโอนทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงรายการต่าง ๆ เกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ง-9495 กรุงเทพมหานคร ฉบับที่ กท.0006 (กอ.)/27092ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2530 ของจำเลย

Share