แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทาง หลังจากโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยได้ 2 เดือน โจทก์ได้ลาป่วยทุกเดือนติดต่อกัน 7 เดือน โดยลาป่วยเดือนละ 1 วันถึง 8 วัน แสดงว่าสุขภาพของโจทก์ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถตรากตรำในหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสารอันเป็นงานหนักไว้ กรณีถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ถือเป็นเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 (3)และไม่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทาง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์หยุดงานโดยลาป่วย ลากิจอยู่เนือง ๆ จำเลยได้ตักเตือนแล้ว โจทก์มิได้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ถือว่าโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพ และขาดคุณสมบัติสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะโจทก์มีสิทธิลาป่วยได้ แล้วได้ลาป่วยตามสิทธิของโจทก์ โจทก์มิได้ขาดคุณสมบัติตามที่จำเลยกล่าวหา การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง อัตราค่าจ้างและสภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การว่า โจทก์ลาป่วยเกินสิทธิ จำเลยได้มีหนังสือตักเตือนแล้ว ๓ ฉบับ แต่โจทก์ยังยื่นใบลาป่วยอีก โจทก์จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๓๔๖/๒๕๒๘ เฉพาะส่วนที่เลิกจ้างโจทก์ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างและสภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม กับให้ใช้ค่าเสียหายระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยไม่ครบ ๑ ปี โจทก์ลาป่วยถึง ๓๘ วัน ลากิจ ๑๓ วัน ทั้งยังขาดงานอีก ๑ วัน แสดงว่าสุขภาพของโจทก์ไม่มีความพร้อมในการที่จะทำงานให้จำเลย ถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙ (๓) แล้ว เห็นว่า นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ที่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยมีเพียงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๗ และเดือนธันวาคม ๒๕๒๗ เท่านั้นที่โจทก์มิได้ลาป่วย พอเดือนมกราคม ๒๕๒๘ อันเป็นเดือนที่สาม โจทก์ลาป่วย ๑ วัน เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ โจทก์ลาป่วย ๑ ครั้ง รวม ๒ วัน เดือนมีนาคม ๒๕๒๘ โจทก์ลาป่วย ๗ ครั้ง รวม ๘ วัน เดือนเมษายน ๒๕๒๘ โจทก์ลาป่วย ๗ ครั้ง รวมลาป่วย ๘ วัน เดือนพฤษภาคม ๒๕๒๘ โจทก์ลาป่วย ๖ ครั้ง รวมลาป่วย ๘ วัน เดือนมิถุนายน ๒๕๒๘ โจทก์ลาป่วย ๒ ครั้ง รวมลาป่วย ๒ วัน วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘ โจทก์ลาป่วย ๑ วัน เป็นอัตราป่วยครบ ๓๐ วันตามสิทธิตามข้อบังคับ ฯ การลาป่วยโดยไม่เว้นเดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าสุขภาพของโจทก์ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถตรากตรำทำงานในหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสารอันเป็นงานหนักได้ จริงอยู่ การลาวันที่ ๒๒ ถึงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘ เป็นการลาป่วยเพราะโจทก์ประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์เฉี่ยว ได้รับบาดเจ็บผิวหน้าขูดถลอกและฟกช้ำ หลังจากพักรักษาตัวได้ ๓ วัน ครั้นวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๘ โจทก์ขอลาป่วยอีก ๒ วัน โดยปวดหัวหน้ามืดโดยไม่ปรากฏเหตุว่าสืบเนื่องมาจากเหตุถูกรถยนต์เฉี่ยวประการใด วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๘ โจทก์ขอลาป่วย กรณีปวดหลังและวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๘ โจทก์ยื่นใบลาป่วยกรณีปวดหัวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการลาสามครั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ของโจทก์อันมีมาแต่เดิมโดยแจ้งชัด ไม่อาจทำหน้าที่ที่ตรากตรำได้ กรณีจึงถือว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ถือเป็นเหตุอันควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้แล้ว เมื่อการเลิกจ้างมีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ โดยมิพักต้องพิจารณาว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙ (๓) และมิพักต้องพิจารณาว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับ ฯ ของจำเลยหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์