คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 4 เดือน จำเลยอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุก 28 เดือน เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสองบัญญัติว่า ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือนให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือนถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ฉะนั้น ในกรณีกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือนในส่วนที่เมื่อรวมกันถึง 12 เดือน ก็จะคิดคำนวณวันที่จำคุกเพียง 360 วัน แต่ถ้าถือว่าการลงโทษจำคุก 12 เดือน เป็นกำหนดโทษจำคุก 1 ปี แล้วจะคิดคำนวณวันที่จำคุกได้ถึง 365 วัน หรือ 366 วัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยดังนี้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลยเป็นเดือนจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 441,664 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352วรรคแรก, 91 เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 20 วัน รวม 84 กระทง รวมจำคุก 4 ปี8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยชำระเงินแก่ผู้เสียหายแล้ว130,000 บาท จึงให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย 311,664 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า รวมโทษจำคุกจำเลย 1,680 วัน หรือ 56เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 28 เดือน และให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย 301,664 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 4 เดือน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นจำคุก 28 เดือน ไม่เป็นผลดีแก่จำเลยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ฉะนั้น ในกรณีกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือนในส่วนที่เมื่อรวมกันถึง 12 เดือน ก็จะคิดคำนวณวันที่จำคุกเพียง 360 วันแต่ถ้าถือว่าการลงโทษจำคุก 12 เดือน เป็นกำหนดโทษจำคุก 1 ปี แล้ว จะคิดคำนวณวันที่จำคุกได้ถึง 365 วัน หรือ 366 วัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดโทษจำคุกจำเลยเป็นเดือนชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share