แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ท. เจ้าหนี้เดิมหากมาฟ้องร้องลูกหนี้ในประเด็นที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องร้องและศาลได้วินิจฉัยถึงที่สุดไปแล้วโดยเหตุอย่างเดียวกัน ย่อมเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบกับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ได้
คดีก่อนธนาคาร ท. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายศาลล้มละลายกลางเห็นว่าแม้จำเลยทั้งสองจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่จำเลยทั้งสองมีรายได้ประจำรวมกันเกินเดือนละ 100,000 บาท ย่อมสามารถชำระหนี้ได้ อีกทั้งหากเจ้าหนี้เดิมยินยอมลดหนี้จำนวนหนึ่งน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น สมควรให้จำเลยทั้งสองไปเจรจาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม กรณีจึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย คดีถึงที่สุด แต่คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ท. ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายโดยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า ระยะเวลาผ่านพ้นไป 4 ปีเศษแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่โจทก์ ทั้งไม่ชำระหนี้ใดๆ ให้แก่โจทก์เลย เช่นนี้ หากเป็นจริงดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ก็ถือว่าเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายนั้นอาจจะเปลี่ยนไปในสาระสำคัญ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ในคดีศาลแพ่งธนบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 8362/2541 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5,194,954.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.50 ต่อปี จากต้นเงิน 4,286,153.20 บาท โดยจำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เดิมเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกเดือนมกราคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 18 เดือน หลังจากศาลมีคำพากษาตามยอมแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้เดิมนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยทั้งสองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 160879 แขวงสะพานสูง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วน คำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,410,006.38 บาท จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ศาลล้มละลายกลางตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้โอนสิทธิเคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลมาแล้วครั้งหนึ่งและศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีอีกเพราะเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้องและไม่คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ในคดีแพ่งหมายเลขคดีแดงที่ 8362/2541 หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วน และหลังจากนั้นได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 688/2547 โดยเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่จำเลยทั้งสองมีรายได้รวมกันเกินว่าเดือนละ 100,000 บาท ย่อมสามารถผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เดิมได้ อีกทั้งหากเจ้าหนี้เดิมยินยอมลดหนี้ให้จำนวนหนึ่ง เชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระหนี้ได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้น หนี้ไม่ได้เกิดจากความประพฤติเสียหายทางการเงินของจำเลยทั้งสอง แต่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้จำเลยทั้งสองขาดการผ่อนชำระจนถูกฟ้องบังคับจำนอง เมื่อคำนึงถึงการที่เจ้าหนี้เดิมได้รับบรรเทาความเสียหายโดยการขายทรัพย์แล้วบางส่วน สมควรให้จำเลยทั้งสองได้เจรจาเพื่อชำระหนี้อย่างอิสระปราศจากเครื่องมือบีบบังคับทั้งปวงก็จะย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เดิมและจำเลยทั้งสองยิ่งกว่าการพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย เพราะหากจำเลยทั้งสองล้มละลายย่อมจะต้องออกจากงานขาดรายได้ไม่สามารถชำระหนี้ให้เจ้าหนี้เดิมได้ ทั้งจะเป็นปัญหาทางสังคมและครอบครัวของจำเลยทั้งสองต่อไป คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้ค้างชำระผู้อื่น น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองสามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เดิมได้ จึงมีเหตุอื่นไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 688/2547 หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 บัญญัติว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์จะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมมีต่อจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ต้องรับมาซึ่งบรรดาสิทธิและหน้าที่ที่เจ้าหนี้เดิมมีต่อจำเลยทั้งสอง ซึ่งหากโจทก์มาฟ้องร้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องร้องและศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยเหตุอย่างเดียวกัน ก็ย่อมเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ได้ ปรากฏว่าในคดีหมายเลขแดงที่ 688/2547 ซึ่งธนาคารไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่จำเลยทั้งสองมีรายได้ประจำรวมกันเกินเดือนละ 100,000 บาท ย่อมสามารถชำระหนี้ได้ อีกทั้งหากเจ้าหนี้เดิมยินยอมลดหนี้จำนวนหนึ่งก็น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น สมควรให้จำเลยทั้งสองไปเจรจาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เดิมและจำเลยทั้งสองยิ่งกว่าการพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย กรณีจึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย แต่คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า ระยะเวลาผ่านพ้นไป 4 ปีเศษแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่โจทก์ ทั้งไม่ชำระหนี้ใดๆ ให้แก่โจทก์เลย เช่นนี้ เห็นได้ว่า หากเป็นจริงดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ก็ถือว่าเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายนั้นอาจจะเปลี่ยนไปในสาระสำคัญ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปเสียทีเดียว โดยที่มิได้พิจารณาฟังพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสองก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง ให้ศาลล้มละลายกลางรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลล้มละลายกลางรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่