คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอรับมรดกที่ดินมีโฉนด แล้วจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำและยืนยันรับรองบัญชีเครือญาติต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินที่สอบสวนที่ดินมรดกว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 4 คน คือ จำเลยทั้งสี่ อันเป็นเท็จซึ่งความจริงจำเลยทั้งสี่ต่างทราบดี อยู่แล้วว่าผู้ตายยังมีบุตรสาวอีก 2 คน เป็นทายาทโดยธรรม เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ตามคำขอของจำเลยทั้งสี่ทำให้กรมที่ดินและบุตรสาวอีก 2 คน ของผู้ตายเสียหาย จำเลยทั้งสี่ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในวันที่กระทำความผิดนั้นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗, ๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๘๓ จำคุกคนละ ๔ เดือน ในขณะกระทำความผิด จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีอายุน้อย ไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน น่าเชื่อว่าได้กระทำตามคำซักถามของจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นมารดา จึงเห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ กลับตนเป็นคนดีด้วยการรอการลงโทษ ให้รอการลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้วข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๘๓ หรือไม่ เกี่ยวกับข้อที่ว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็นแก่เจ้าพนักงานนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งว่า บัญชีเครือญาติตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๖ พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี ได้ทำขึ้นตามคำให้ถ้อยคำของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งความจริงจำเลยทั้งสี่ต่างทราบดีอยู่แล้วว่านางสาววรรณพิไล สิทธิไชย และนางอมรา เกตุจันทรา ต่างก็เป็นทายาทของนายแพทย์ประดิษฐ์ผู้ตาย ดังนั้น ถ้อยคำที่จำเลยทั้งสี่แจ้งให้นางสาวภควดีและนางสาววันเพ็ญพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งสองบันทึกไว้จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง และศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ รู้อยู่แล้วว่านายแพทย์ประดิษฐ์ผู้ตายมีทายาทอยู่ ๖ คน แต่แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานว่านายแพทย์ประดิษฐ์มีทายาทเพียง ๔ คน และจำเลยที่ ๑ รู้อยู่แล้วว่าบัญชีเครือญาติที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ แจ้งไว้นั้นไม่ตรงต่อความเป็นจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติข้อแรกว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานจริง คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายแพทย์ประดิษฐ์ผู้ตายมีทายาทโดยธรรมอยู่ ๖ คน คือ จำเลยทั้งสี่และนางสาววรรณพิไลกับนางอมรา ดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๖๘๓ ตามเอกสารหมาย จ.๒ ย่อมเป็นทรัพย์มรดกของนายแพทย์ประดิษฐ์ผู้ตายซึ่งตกได้แก่ทายาททั้งหกดังกล่าวเมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่รับมรดกจึงตกได้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นางสาววรรณพิไลและนางอมรา คนละส่วนเท่า ๆ กัน ข้อที่จำเลยทั้งสี่ต่อสู้ว่าการแจ้งชื่ออันเป็นเท็จเป็นการกระทำโดยสุจริต โดยขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อเป็นความสะดวกในการจัดการทรัพย์สินนั้น เห็นว่า หากจำเลยทั้งสี่กระทำการโดยสุจริตเพื่อจัดการนำทรัพย์สินมาแบ่งให้แก่ทายาททุกคน หรือเพื่อความสะดวกในการจัดการทรัพย์สินเกี่ยวกับที่ดินมรดกแปลงนี้ จำเลยทั้งสี่ยอมที่จะยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวโดยระบุชื่อนางสาววรรณพิไลและนางอมราเป็นทายาทด้วย หรือแจ้งให้บุคคลทั้งสองมารับโอนกรรมสิทธิ์พร้อมกันแต่จำเลยทั้งสี่กลับให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่านายแพทย์ประดิษฐ์มีทายาทเพียง ๔ คน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงส่อแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาปิดบังอำพรางเพื่อที่จะเอาไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของตนแต่ฝ่ายเดียวโดยทุจริต และการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าสำนักงานดังกล่าวนั้น เป็นเหตุให้กรมที่ดินโดยสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี หลงเชื่อ จึงได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายมรดก ได้รับความเสียหาย อาจถูกนางวรรณพิไลและนางอมราซึ่งเป็นทายาทอีก ๒ คนของนายแพทย์ประดิษฐ์ฟ้องร้องเอาได้ สำหรับความเสียหายที่เกิดแก่นางสาวรรณพิไลและนางอมรานั้นย่อมเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกตามส่วนของตนการกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้กรมที่ดิน นางสาววรรณพิไลและนางอมราเสียหายซึ่งกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในวันที่กระทำความผิดนั้นเอง ดังนั้น จำเลยทั้งสี่ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๘๓ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดีเมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ และสภาพความผิดโดยตลอดแล้ว เห็นว่าการที่ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดก นายแพทย์ประดิษฐ์ผู้ตายตามเอกสารหมาย อ.๕ โดยกล่าวในคำร้องว่า นางสาววรรณพิไล สิทธิไชย และนางอมรา เกตุจันทรา เป็นบุตรของนายแพทย์ประดิษฐ์อันเกิดจากนางอารมย์ภริยาเดิมของผู้ตายตามบัญชีเครือญาติท้ายคำร้อง เอกสารหมาย ๒ และยังได้ระบุที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๖๘๓ เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกด้วย เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ ได้แสดงเจตนายอมรับแล้วว่านางสาววรรณพิไลและนางอมราเป็นทายาทโดยธรรรมของนายแพทย์ประดิษฐ์ผู้ตายด้วย ถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรปรานี และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยที่ ๑ ไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๖
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยที่ ๑ ไว้ มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share