แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การฟ้องขอให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมโดย มิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มิใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิด แต่มูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หากแต่เป็นการฟ้องโดยอาศัยพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญโจทก์จึงฟ้องบังคับให้รื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารซึ่ง ฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 76(4) ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารเฉพาะส่วนที่ได้ดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการรื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโอนอาคารพิพาทจากเจ้าของเดิม มิได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารแต่อย่างใด โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดเวลา 1 ปีคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ได้ดัดแปลงต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาต หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารพิพาทโดยมิได้รับอนุญาตตามฟ้องและจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ให้รื้อถอนอาคารพิพาทแล้ว และวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า “ปัญหาข้อสุดท้ายที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยฎีกาว่าโจทก์อ้างว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมวันที่ 6 มิถุนายน2528 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2530 ซึ่งเป็นเวลาเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า การฟ้องขอให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มิใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา448 หากแต่เป็นการฟ้องโดยอาศัยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้รื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่”
พิพากษายืน.