คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4830/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้มีสิทธิเอาประกันภัยมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัยเท่านั้น ผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใด ๆ ซึ่งถ้ามีวินาศภัยเกิดขึ้นจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายและความเสียหายที่ผู้นั้นจะได้รับสามารถประมาณเป็นเงินได้แล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องขนส่งสินค้าที่ขายจากกรุงเทพมหานครไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์ โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ซื้อ โจทก์จึงมีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าไว้กับจำเลย โดยมิต้องคำนึงถึงว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจะโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ เมื่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ได้ จำเลยให้การรับว่าโจทก์เอาประกันภัยสินค้าดังปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้องจริง แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยเพราะสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยมิได้กล่าวว่าสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยอย่างไรเพราะเหตุใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำสืบตามคำให้การในส่วนนี้ ความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามความในบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 จะต้องเป็นของผู้เอาประกันภัยเองหรือเป็นของผู้รับประโยชน์จึงจะทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด แต่ถ้าเป็นความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลอื่น ๆ แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สักเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด เงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัย มีใจความว่าไม่ว่ากรณีใด ๆ จะต้องไม่ถือว่าการประกันภัยนี้ขยายไปคุ้มครองการสูญเสีย การเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายอันมีต้นเหตุอย่างใกล้ชิดจากความล่าช้านั้น มีความหมายถึงความล่าช้าที่เป็นเหตุโดยตรงให้สินค้าที่เอาประกันภัยไว้เสียหายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าเหตุที่สินค้าที่เอาประกันภัยเกิดความเสียหายเนื่องมาจากการระเบิดในห้องเครื่องยนต์ของเรือ หาใช่เกิดจากความล่าช้าในการขนส่งไม่ผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ส่งสินค้าประเภทปลาทูน่ากระป๋อง จากกรุงเทพมหานครไปสิงคโปร์โดยพาหนะเรือ ยูนิคอร์ด 1 โดยได้ทำสัญญาประกันภัยกับจำเลย ครั้นขณะที่เรือยูนิคอร์ด 1 กำลังแล่นมุ่งหน้าไปประเทศสิงค์โปร์ ได้เกิดระเบิดไฟไหม้เรือทำให้เรือจมลงเป็นเหตุให้สินค้าปลาทูน่าของโจทก์ทั้งหมดได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,527,573.78 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 8,108,628 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายผู้เสียหายคือ บริษัทไตรมารีน แอสโซวิเอทส์พีทีเอ จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศสิงคโปร์และเป็นผู้ซื้อสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลย เมื่อสินค้านำลงสู่เรือยูนิคอร์ด 1 แล้วกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นตกเป็นของบริษัทดังกล่าวสินค้าที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลย ตามข้อตกลงเรือลำนี้จะต้องออกเดินทางประมาณวันที่6 มีนาคม 2528 แต่โจทก์ให้เรือรออยู่จนกระทั่งถึงวันที่ 13เดือนเดียวกัน ตอนเย็นจึงออกเดินทาง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายจากการเดินเรือล่าช้าและการขนส่งสินค้าของโจทก์นอกเส้นทางสินค้าที่บรรทุกไปนั้นมีความเสื่อมสภาพอยู่ในตัว ขณะที่เรือจมลงมีเรือประมงลำอื่นพร้อมที่จะช่วยรับสินค้า แต่นายเรือและเจ้าของเรือกลับปล่อยให้สินค้าจมลงใต้ทะเลโดยเจตนาจะทำลายสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน8,108,628 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ได้เอาประกันภัยสินค้าปลาทูน่ากระป๋องซึ่งจะขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์โดยทางทะเลด้วยเรือยูนิคอร์ด 1 ของโจทก์ไว้กับจำเลยในจำนวนเงิน 287,540เหรียญสหรัฐ ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยและเงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัย เอกสารหมาย จ.12และ จ.14 ต่อมาระหว่างเรือยูนิคอร์ด 1 เดินทางขนส่งสินค้าได้เกิดระเบิดขึ้นขณะเดินทางอยู่บริเวณเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเรือจมลงทะเล สินค้าในเรือได้รับความเสียหายทั้งหมด ปัญหาที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ซื้อขายกันได้โอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่เมื่อทำสัญญาซื้อขายกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 และโจทก์ได้ส่งสินค้าลงเรือยูนิคอร์ด 1 เรียบร้อยแล้ว กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวได้โอนไปยังผู้ซื้อโดยผลแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 875 วรรคแรก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ผู้มีสิทธิเอาประกันภัยนั้นมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัยเท่านั้น ผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใด ๆ ซึ่งถ้ามีวินาศภัยเกิดขึ้นจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายและความเสียหายที่ผู้นั้นจะได้รับสามารถประมาณเป็นเงินได้แล้วผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้เอาประกันภัยสินค้าปลาทูน่ากระป๋องซึ่งโจทก์จะต้องขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์โดยทางทะเลด้วยเรือยูนิคอร์ด 1 ของโจทก์ไว้กับจำเลยผู้รับประกันภัยโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ซื้อ โจทก์จึงมีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าไว้กับจำเลย โดยมิต้องคำนึงถึงว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจะโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ เมื่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องมานั้นชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีเป็นประเด็นไว้ตามคำให้การข้อ 7.3 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยเพราะว่าสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยข้อความที่ว่าเพราะสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันไว้ต่อจำเลย เป็นเหตุผลที่จำเลยยกขึ้นอ้างปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าปลาทูน่ากระป๋องมีจำนวนรวมทั้งหมด 14,000 หีบระหว่างขนส่งทางทะเลจากกรุงเทพมหานครไปมอบให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์โดยเรือยูนิคอร์ด 1 ของโจทก์ไว้กับจำเลย ระหว่างทางเรือลำดังกล่าวเกิดระเบิดจมลงในทะเลเป็นเหตุให้สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยได้รับความเสียหายทั้งหมด จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยจำเลยให้การรับว่า โจทก์เอาประกันภัยสินค้าดังปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้องหมายเลข 3 จริง แต่ปฏิเสธไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ โดยให้การต่อสู้เกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์ข้อนี้แต่เพียงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยเพราะสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้น ไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยมิได้กล่าวว่าสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยอย่างไรเพราะเหตุใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำสืบตามคำให้การในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าบริษัทไตรมารีน จำกัดที่ประเทศสิงคโปร์ สั่งซื้อปลาทูน่ากระป๋องจากโจทก์ 14,000 หีบตามเอกสารหมาย จ.8, จ.10 ถึง จ.13 โดยมานายวสันต์ พัชรารินและนางชวนพิศ สุขสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่กองตรวจสินค้า กรมศุลกากรเป็นผู้ร่วมตรวจและสุ่มสินค้า ปรากฏว่าสินค้าถูกต้องตรงกับใบขนส่งสินค้าขาออกเอกสารหมาย จ.4 และมีนายบุญเลิศ วรรณพินและนายสุรพล วิภาวกุล เป็นผู้ควบคุมสินค้ารายนี้ไปลงเรือยูนิคอร์ด 1 ดังนั้น สินค้าที่เสียหายเนื่องจากเรือยูนิคอร์ด 1จมจึงเป็นสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลย
ปัญหาที่จำเลยฎีกาประการต่อไปอีกว่า สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยเสียหายเพราะนายเรือกับโจทก์ร่วมกันปล่อยให้สินค้าทั้งหมดจมลงทะเลโดยมีเจตนาทำลายสินค้า ความวินาศภัยดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตของโจทก์ผู้เอาประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย จำเลยผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 879 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์” ซึ่งความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามความในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะต้องเป็นของผู้เอาประกันภัยเองหรือเป็นของผู้รับประโยชน์จึงจะทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิดเพราะย่อมเป็นการไม่สมควรที่จะให้ผู้ทุจริตหรือผู้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้รับประโยชน์จากความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเอง แต่ถ้าเป็นความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลอื่น ๆแม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สักเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิดข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่สินค้าเสียหายเกิดขึ้นขณะที่ร้อยตำรวจตรีไพฑูรย์ มณีโชติ นายเรือซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหน้าที่ควบคุมเรือยูนิคอร์ด 1ซึ่งเกิดระเบิดขึ้นที่ห้องเครื่องยนต์ โดยไม่ได้ความว่าการระเบิดและการที่เรือยูนิคอร์ด 1จมเกิดจากการกระทำของโจทก์หรือการได้จ้างวานใช้ หรือสนับสนุนของโจทก์จำเลยผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นความรับผิดศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า สินค้าเกิดความเสียหายขึ้นเพราะโจทก์ขนส่งสินค้าล่าช้าและโจทก์เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือผิดเงื่อนไขข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย และเงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยเอกสารหมาย ล.12 และ ล.14 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดวันที่เรือยูนิคอร์ด 1 ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร วันที่ 6 มีนาคม 2528 หรือโดยประมาณ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาขนส่งไว้ ที่ตามเงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยเอกสารหมาย ล.14 ข้อ 1(3) และข้อ 5 มีใจความว่า ไม่ว่ากรณีใด ๆ จะต้องไม่ถือว่าการประกันภัยนี้ขยายไปคุ้มครองการสูญเสีย การเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายอันมีต้นเหตุอย่างใกล้ชิดจากความล่าช้านั้น ข้อความดังกล่าวมีความหมายถึงความล่าช้าที่เป็นเหตุโดยตรงให้สินค้าที่เอาประกันภัยไว้เสียหายเท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่สินค้าเกิดความเสียหายครั้งนี้เนื่องมาจากการระเบิดในห้องเครื่องยนต์ของเรือ หาใช่เกิดจากความล่าช้าในการขนส่งไม่ จำเลยจึงไม่พ้นความรับผิด”
พิพากษายืน

Share