คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะถือว่าบริษัทต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทยมาตรา 76 ทวิ แห่ง ป. รัษฎากร ต้องปรากฏว่าบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย
การที่บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศมีลูกจ้างเข้ามาทำงานในโรงงานของโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่ประเทศไทยตามสัญญาจัดการทางเทคนิค โดยให้คำแนะนำฝึกฝนเจ้าหน้าที่คนไทยในการดำเนินการของโรงงานและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ของโจทก์ และบริษัท อ. ได้รับเงินค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.85 บาท จากยอดรายรับจากการขายของโจทก์ทั้งหมดมีลักษณะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่โจทก์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง บุคคลดังกล่าวทำงานโดยอิสระในฐานะผู้เชี่ยวชาญของบริษัท อ. โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อสินค้าผ่านบุคลากรดังกล่าว บุคลากรดังกล่าวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าที่ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่ง ป. รัษฎากร ในประเทศไทย ถือไม่ได้ว่าบริษัท อ. ประกอบกิจการขายสินค้าให้แก่โจทก์ในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่ง ป. รัษฎากร
การที่โจทก์ผู้ซื้อสินค้าชำระดอกเบี้ยซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่ง ป. รัษฎากร ให้แก่บริษัท อ. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ก) แห่ง ป. รัษฎากร ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย บริษัท อ. จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยให้โจทก์ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่ง ป. รัษฎากร
ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้นั้น ใช้บังคับแก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลียเท่านั้น บริษัท อ. ที่มีถิ่นที่อยู่ในเมืองฮ่องกง แม้จะเป็นบริษัทในเครือของบริษัทต่างประเทศอีก แห่งหนึ่งซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ก็เป็นคนละนิติบุคคล จะถือว่าบริษัท อ. มีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียหาได้ไม่ จึงไม่อาจนำความตกลงฉบับดังกล่าวมาบังคับได้ บริษัท อ. จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ต้องชำระภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล (ที่ถูก ภาษีส่วนท้องถิ่น) รวมจำนวน 11,460,253.73 บาท ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ทำสัญญาจัดการทางเทคนิคกับบริษัท อ. ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ หาแหล่งวัตถุดิบนมผงและมันเนยให้โจทก์ โดยโจทก์จ่ายค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียม ในอัตราร้อยละ 0.85 บาทจากยอดรายรับจาก การขายของโจทก์ทั้งหมด การที่บริษัท อ. ให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ โดยจัดบุคคลเข้ามาให้คำแนะนำในการดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต ดำเนินการจัดซื้อ หาแหล่งวัตถุดิบให้โจทก์ เป็นไปตามสัญญาที่ทำขึ้น มิได้เป็นการประกอบกิจการของบริษัท อ. ในประเทศไทย แต่เป็นการช่วยเหลือแก่โจทก์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง กรณีจึงไม่อาจถือว่าบริษัท อ. ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ได้นำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าซึ่งซื้อมาจากบริษัท อ. โดยโจทก์ชำระดอกเบี้ยจากการชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าว อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์มิได้หักภาษีและนำส่งไว้ จึงต้องรับผิดและชำระภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ที่โจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะได้รับ ยกเว้นตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ นั้น บริษัท อ. จดทะเบียนที่เมืองฮ่องกง ไม่มีสนธิสัญญากับประเทศไทยแต่อย่างใด ดังนี้โจทก์จะนำสิทธิตามความตกลงดังกล่าวมาใช้ย่อมไม่ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท อ. จดทะเบียนที่เมืองฮ่องกงและเป็นบริษัทในเครือของบริษัทออสเตรเลียนแดรี่คอร์ปอเรชั่น ซึ่งจดทะเบียนในประเทศออสเตรเลีย โจทก์กับบริษัท อ. ได้ทำสัญญาจัดการทางเทคนิค มีข้อสัญญาว่าบริษัท อ. จะจ้างบุคลากรต่างประเทศเข้ามาทำงานกับโจทก์ โดยโจทก์จะรับผิดชอบเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในปี 2540 บริษัท อ. จ้างบุคลากรต่างประเทศมาทำงานกับโจทก์จำนวน 3 คน และโจทก์สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท อ. แล้วชำระราคาโดยมีดอกเบี้ยซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร รวมอยู่ด้วย โจทก์ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินได้จำนวนหนี้ไว้ เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้โจทก์ชำระภาษีกับเงินเพิ่มโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า การที่บริษัท อ. จ้างบุคลากรต่างประเทศมาทำงานกับโจทก์ ถือว่าบริษัท อ. ประกอบกิจการในประเทศไทยหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าบริษัท อ. ประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องปรากฏว่า บริษัท อ. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือ ผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินหรือผลกำไรในประเทศไทย แต่ตามสัญญาจัดการทางเทคนิค บุคลากรดังกล่าวคือผู้จัดการโรงงานกับเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคมีหน้าที่ให้คำแนะนำฝึกฝน เจ้าหน้าที่คนไทยในการดำเนินการของโรงงานและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ของโจทก์ และบริษัท อ. ได้รับเงิน ค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.85 บาท จากยอดรายรับจากการขายของโจทก์ทั้งหมด ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่โจทก์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง ตามทางนำสืบของโจทก์ก็ได้ความเพียงว่า บุคลากรดังกล่าวทำงานโดยอิสระในฐานะผู้เชี่ยวชาญของบริษัท อ. ไม่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อสินค้าผ่านบุคลากรดังกล่าวแต่อย่างใด บุคลากรดังกล่าวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าที่ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร การที่บริษัท อ. มีบุคลากรดังกล่าวมาทำงานในประเทศไทยจึงมิได้เป็นเหตุให้ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ในประเทศไทยถือไม่ได้ว่าบริษัท อ. ประกอบกิจการขายสินค้าให้แก่โจทก์ในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ผู้ซื้อสินค้าชำระดอกเบี้ยซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัท อ. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของ ต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย บริษัท อ. จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยให้โจทก์ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า บริษัท อ. ได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้หรือไม่ เห็นว่า ความตกลงฉบับดังกล่าวใช้บังคับแก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลีย เท่านั้น บริษัท อ. เป็น นิติบุคคลมีถิ่นที่อยู่ในเมืองฮ่องกง แม้จะเป็นบริษัทในเครือของบริษัทออสเตรเลียนแดรี่ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ก็เป็นคนละนิติบุคคลกัน จะถือว่าบริษัทออสแดรี่ ลิมิเต็ด มีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียหาได้ไม่ จึงไม่อาจนำความตกลงฉบับดังกล่าวมาบังคับได้ บริษัทออสแดรี่ ลิมิเต็ด จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ที่เป็น ดอกเบี้ยตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของ ศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลยทั้งสี่.

Share