คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4826/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์มีหนี้ที่จะต้องผลิตและส่งมอบขวดแก่จำเลย ทุกเดือนนั้นโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วน และผิดสัญญาไม่ชำระหนี้บางส่วน สำหรับส่วนที่โจทก์ชำระให้จำเลยรับไปแล้วนั้น จำเลยต้องชำระหนี้ตอบแทนคิดเป็นเงินตามจำนวนขวดที่รับไว้นั้นแก่โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ ส่งมอบขวดไม่ครบ จึงไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์หาได้ไม่ส่วนข้อกำหนดในสัญญาที่ว่าถ้าโจทก์ไม่สามารถส่งมอบขวดได้ตามสัญญาให้ โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเท่าราคาขวดทั้งหมด ที่ยังค้างส่งอยู่ในงวดนั้น ๆ เป็นเพียงการกำหนดเบี้ยปรับ สำหรับบังคับเอาแก่จำเลยในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้เท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ยังไม่ชำระเบี้ยปรับ จำเลยจึงไม่ต้อง ชำระค่าขวดหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น เมื่อจำเลยยอมรับมอบ ขวดบางส่วนจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ค่าขวดดังกล่าว จึงเป็นการผิดสัญญา ชอบที่โจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้นั้นได้
เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งมอบขวดบางส่วน โจทก์ก็ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นแก่จำเลยและในเมื่อสัญญาได้กำหนดค่าเสียหาย ไว้ล่วงหน้าในลักษณะที่ เป็นเบี้ยปรับแล้ว เช่นนี้ จำเลยย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสองซึ่งหากเป็นจำนวนสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามมาตรา 373 วรรคแรก
ค่าน้ำมันพืชรั่วซึม เสียหายนั้น ปรากฏว่าอย่างช้าในวันสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2524 การรั่วซึม ของขวดที่ชำรุดบกพร่องจำนวนประมาณ 30,000 ใบได้ปรากฏแก่จำเลยจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2526 จึงพ้นกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ความชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น ฟ้องแย้งของจำเลยข้อนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 601 แล้ว
ค่าใช้จ่ายและค่าจ้างคนงานในการตรวจสอบคุณภาพขวดของจำเลยเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สินค้าว่าชำรุดบกพร่องหรือไม่ หากชำรุดบกพร่องจำเลยก็จะไม่รับมอบและคืนแก่โจทก์ ย่อมเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าตามปกติทั่วไปและเป็นประโยชน์แก่จำเลยฝ่ายเดียว และไม่ว่า โจทก์จะส่งมอบขวดที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ จำเลยก็คงต้องจ้าง คนงานตรวจคุณภาพขวดอยู่นั่นเอง หาใช่เป็นค่าเสียหาย เพราะโจทก์ส่งมอบขวดที่ชำรุดบกพร่องเป็นกรณีพิเศษไม่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่จำเลย
จำเลยมิได้เพียงแต่นำน้ำมันพืชบรรจุขวดอย่างใหม่ออกจำหน่ายแก่ลูกค้าตามปกติ แต่ได้ดำเนินกิจการขยายตลาดด้วยการลงทุนโฆษณาเป็นพิเศษควบคู่ไปด้วยโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ การลงทุนโฆษณาสินค้านี้เป็นพฤติการณ์พิเศษอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการค้าของจำเลย เมื่อโจทก์ส่งมอบขวดไม่ครบ ทำให้จำเลยขยายตลาดไม่ได้ และต้องสูญเสียเงินค่าโฆษณาสินค้า ไปโดยไม่มีสินค้าจำหน่าย ความเสียหายของจำเลยในค่าโฆษณาสินค้า จึงไม่ใช่ความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่ โจทก์ไม่ชำระหนี้ แต่เป็นความเสียหายที่เกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์มิได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นล่วงหน้า จำเลย จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง
การที่จำเลยคาดหวังว่าจะใช้ขวดบรรจุน้ำมันพืชแล้วนำไปขายได้กำไรขวดละ 3.80 บาท นั้น เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่แน่นอนว่าจำเลยจะขายมีกำไรตามที่คาดหมายหรือไม่ทั้งเป็นพฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบมาก่อน และโจทก์ไม่อาจคาดเห็นหรือควรคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้น ได้ล่วงหน้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดกำไรส่วน นี้จาก โจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ผลิตขวดบรรจุน้ำมันพืชจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ใบ ราคาใบละ ๒.๒๐ บาท กำหนดส่งมอบภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๕ จำนวนเฉลี่ยโจทก์จะต้องผลิตและส่งมอบให้จำเลยอย่างน้อยเดือนละ๘๐,๐๐๐ ใบ จำเลยมีหน้าที่ชำระเงินค่าจ้างให้โจทก์ภายใน ๖๐ วันนับจากวันที่ระบุในใบส่งสินค้าเป็นงวดไป ระหว่างวันที่ ๗เมษายน ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๔ โจทก์ผลิตและส่งมอบขวดให้โจทก์รับไว้จนครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ๓๘ งวด รวม ๓๒๐,๕๒๗ ใบเป็นเงิน ๗๐๕,๑๕๙.๔๐ บาท ครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ๓๘ งวดรวม ๓๒๐,๕๒๗ ใบ เป็นเงิน ๗๐๕,๑๕๙.๔๐ บาท ครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ จึงเป็นผู้ผิดสัญญาต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน๗๙๗,๕๕๖.๑๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๗๐๕,๑๕๙.๔๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การพร้อมกับฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ตามฟ้อง แต่จำเลยมิได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาผลิตและส่งมอบขวดให้จำเลยเพียง ๒๕๖,๐๔๖ ใบ คิดเป็นเงิน๕๖๓,๓๐๑.๒๐ บาท โจทก์จึงต้องรับผิดตามสัญญาข้อ ๗ ที่กำหนดว่าหากโจทก์ไม่สามารถส่งมอบขวดได้ตามกำหนด โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามราคาขวดที่ยังค้างส่งอยู่ในงวดนั้น ๆ ให้แก่จำเลยซึ่งมีจำนวน ๗๔๓,๙๕๔ ใบ ราคาใบละ ๒.๒๐ บาท เป็นเงิน๑,๖๓๖,๖๙๘.๘๐ บาท ขวดที่โจทก์ผลิตและส่งมอบให้จำเลยแล้วมีบางส่วนที่ชำรุดบกพร่องรวมจำนวน ๖๐,๓๔๘ ใบ และเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายต้องสูญเสียน้ำมันพืชที่รั่วทิ้งออกมาในขณะบรรจุขวดและหลังจากบรรจุขวดแล้วรั่วซึม ออกมาในภายหลัง ทำให้น้ำมันพืชที่บรรจุขวดแล้วต้องเสียหายหมดไม่อาจนำมาใช้ได้อีกซึ่งจำเลยอาจขายน้ำมันพืชได้ในราคาขวดละ ๒๓ บาท แต่จำเลยขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เพียง ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๖๙๐,๐๐๐ บาท และจำเลยต้องเสียค่าจ้างคนงานตรวจขวดที่รั่วซึม ๑๒๒,๐๐๐ บาท ค่าโฆษณาสินค้า๑,๗๔๗,๐๓๐.๖๔ บาท ค่าขาดผลกำไรที่ควรได้ ๒,๘๒๗,๐๒๕.๒๐ บาทค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงในทางการค้า ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน๑๗,๐๒๒,๗๕๔.๖๔ บาท ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยได้มอบขวดไปจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการของจำเลยโดยมิได้อิดเอื้อน สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่ชำระราคาขวดให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ผลิตขวดให้จำเลย โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาค่าเสียหายที่จำเลยเรียกร้องสูงเกินสมควร ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๕๖๓,๓๐๑.๒๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๖เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน ๕๗๒,๑๙๕.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๖ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาด้วยหรือไม่ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๑ มีสาระสำคัญว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑๑มีนาคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๕ โจทก์จะต้องผลิตขวดจำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๐๐,๐๐๐ ใบ ส่งมอบให้จำเลยทุกเดือน อย่างต่ำเดือนละ ๘๐,๐๐๐ ใบ ราคาใบละ ๒.๒๐ บาท จำเลยต้องชำระเงินภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ระบุในใบส่งสินค้า ถ้าจะส่งมอบมากกว่า๘๐,๐๐๐ ใบต่อเดือน แต่ไม่เกิน ๒๒๐,๐๐๐ ใบต่อเดือน จำเลยจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อนส่งมอบไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ถ้าโจทก์ไม่สามารถส่งมอบของได้ตามที่กำหนดไว้โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามราคาขวดทั้งหมดที่ยังค้างส่งอยู่ในงวดนั้น ๆเมื่อทำสัญญากันแล้ว โจทก์ได้ผลิตขวดส่งมอบให้จำเลยเป็นเวลาหลายเดือน รวมส่งมอบทั้งสิ้น ๓๒๐,๕๒๗ ใบ สำหรับเดือนสิงหาคม ๒๕๒๔และเดือนตุลาคม ๒๕๒๔ นั้น จำเลยมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าให้โจทก์ส่งมอบขวดจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ ใบ และ ๒๒๐,๐๐๐ ใบ ตามลำดับซึ่งโจทก์มีเวลาเกิน ๓๐ วัน ในการที่จะส่งมอบ แต่โจทก์ไม่สามารถส่งมอบให้ครบตามสัญญา ส่วนเดือนอื่น ๆ ก็ไม่มีเดือนใดที่โจทก์สามารถส่งมอบได้ถึง ๘๐,๐๐๐ ใบตามสัญญา และขวดที่ส่งมอบนี้ยังมีส่วนที่จำเลยตรวจพบว่าชำรุดหรือไม่ได้มาตรฐาน จึงได้คืนแก่โจทก์ คงรับไว้เท่าที่เป็นขวดดีและได้มาตรฐานเท่านั้นแต่จำเลยไม่ชำระค่าขวดให้โจทก์ตามสัญญา ดังนี้เห็นว่า การที่โจทก์มีหนี้ที่จะต้องผลิตและส่งมอบขวดแก่จำเลยทุกเดือน นั้นโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนและผิดสัญญาไม่ชำระหนี้บางส่วนสำหรับส่วนที่โจทก์ชำระให้จำเลยรับไปแล้วนั้น จำเลยต้องชำระหนี้ตอบแทนคิดเป็นเงินตามจำนวนขวดที่รับไว้นั้นแก่โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ส่งมอบขวดไม่ครบจึงไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์หาได้ไม่ส่วนข้อกำหนดในสัญญาที่ว่าถ้าโจทก์ไม่สามารถส่งมอบขวดได้ตามสัญญาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเท่าราคาขวดทั้งหมดที่ยังค้างส่งอยู่ในงวดนั้น ๆ ข้อสัญญานี้เป็นเพียงการกำหนดเบี้ยปรับสำหรับบังคับเอาแก่โจทก์ในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้เท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ยังไม่ชำระเบี้ยปรับ จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าขวดหาได้ไม่ ในเมื่อจำเลยยอมรับมอบขวดบางส่วนจากโจทก์โดยถูกต้องแล้วดังนั้นการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ค่าขวดดังกล่าว จึงเป็นการผิดสัญญาชอบที่โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้นั้นได้ ส่วนปัญหาเกี่ยวกับจำนวนขวดที่ถูกต้องตามสัญญาซึ่งโจทก์ส่งมอบแก่จำเลยนั้นพิพากษาวินิจฉัยว่ามีจำนวน ๒๖๐,๐๘๙ ใบ ในชั้นฎีกาคู่ความมิได้โต้เถียงเป็นอย่างอื่น จึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าขวดในราคาใบละ ๒.๒๐ บาท ตามสัญญาเป็นเงิน ๕๗๒,๑๙๕.๘๐ บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ส่วนปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยหรือไม่นั้นเพียงใดนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งมอบขวดบางส่วนโจทก์ก็ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นแก่จำเลย และเมื่อในสัญญาได้กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับแล้วเช่นนี้ จำเลยย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ตามจำนวนขวดที่โจทก์ส่งมอบไม่ครบ โดยคิดในอัตราใบละ๒.๒๐ บาท ตามที่กำหนดในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๘๐ วรรคสอง การคำนวณเบี้ยปรับตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๑นี้ ปรากฏว่าโจทก์มีหน้าที่ส่งมอบขวดแก่จำเลยจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ใบแต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังได้ยุติว่า ตลอดอายุสัญญาโจทก์ส่งมอบขวดให้จำเลยถูกต้องตามสัญญาเพียง ๒๖๐,๐๐๐ ใบ จึงมีขวดที่ค้างส่งและส่งมอบไม่ถูกต้องตามสัญญาจำนวน ๗๓๙,๙๑๑ ใบ คิดเป็นเบี้ยปรับในอัตราใบละ ๒.๒๐ บาท เป็นเงิน ๑,๖๒๗,๘๐๔.๒๐ บาท แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของคู่กรณีแล้วเห็นว่าเบี้ยปรับที่คิดตามอัตราและจำนวนที่ตกลงกันได้เป็นจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นจำนวนสูงเกินสมควร ทั้งนี้เพราะจำเลยรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ส่งมอบขวดไม่ได้ตามกำหนดจำเลยน่าจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อบรรเทาความเสียหายลงด้วย แต่จำเลยกลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนตลอดอายุสัญญาเป็นเหตุให้มีจำนวนขวดค้างส่งมากถึง ๗๓๙,๙๑๑ ใบ ทำให้จำนวนเบี้ยปรับสูงมากขึ้นตามไปด้วย จึงเห็นสมควรลดจำนวนเบี้ยปรับลงมาคงให้โจทก์รับผิดชดใช้เพียง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
สำหรับค่าเสียหายอย่างอื่นตามฎีกาของจำเลยจะได้วินิจฉัยเป็นลำดับไปดังนี้
(๑) ค่าน้ำมันพืชรั่วซึม เสียหาย รูปคดีน่าเชื่อว่าอย่างช้าในวันสิ้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๘ การรั่วซึม ของขวดที่ชำรุดบกพร่องจำนวนประมาณ ๓๐,๐๐๐ ใบนั้น ได้ปรากฏแก่จำเลยจนหมดสิ้นแล้วจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๖พ้นเวลา ๑ ปี นับแต่วันที่ความชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น ฟ้องแย้งของจำเลยข้อนี้จึงขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๖๐๑
(๒) ค่าจ้างคนงานตรวจสอบคุณภาพขวด เห็นว่า ค่าใช้จ่ายและค่าจ้างคนงานในการตรวจสอบคุณภาพขวดของจำเลยเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สินค้าว่าชำรุดบกพร่องหรือไม่ หากชำรุดบกพร่องจำเลยก็จะไม่รับมอบและคืนแก่โจทก์ ย่อมเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าตามปกติทั่วไป และเป็นประโยชน์แก่จำเลยฝ่ายเดียวที่จำเลยนำสืบว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการที่โจทก์ส่งมอบขวดที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ จำเลยก็คงต้องจ้างคนงานตรวจสอบคุณภาพขวดอยู่นั่นเอง ถือได้ว่าจำเลยไม่เสียหายโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้แก่จำเลย
(๓) ค่าโฆษณาสินค้า พยานหลักฐานจำเลยฟังได้ว่าจำเลยมิได้เพียงแต่นำน้ำมันพืชบรรจุขวดอย่างใหม่ออกจำหน่ายแก่ลูกค้าตามปกติ แต่ได้ดำเนินการขยายตลาดด้วยการลงทุนโฆษณาเป็นพิเศษควบคู่ไปด้วยโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ การลงทุนโฆษณาสินค้านี้เป็นพฤติการณ์พิเศษอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการค้าของจำเลยเมื่อโจทก์ส่งมอบขวดให้ไม่ครบ ทำให้จำเลยขยายตลาดไม่ได้และต้องสูญเสียเงินค่าโฆษณาสินค้าไปโดยไม่มีสินค้าจำหน่ายความเสียหายของจำเลยในกรณีนี้จึงมิใช่ความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแก่การที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ แต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่พฤติการณ์พิเศษซึ่งโจทก์มิได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นล่วงหน้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๒ วรรคสอง
(๔) ค่าขาดกำไร ตามคำพยานจำเลยยังน่าสงสัยอยู่ว่าหากโจทก์ส่งมอบขวดครบจำนวน จำเลยจะบรรจุน้ำมันพืชขายมีกำไรตามที่คาดหมายหรือไม่ เพราะความหวังที่จะได้กำไรนั้นเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งไม่แน่นอน และการที่จำเลยจะใช้ขวดบรรจุน้ำมันพืชแล้วนำไปขายได้กำไรขวดละ ๓.๘๐ บาท นั้น ก็เป็นพฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบมาก่อน และโจทก์ไม่อาจคาดเห็นหรือควรคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นได้ล่วงหน้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากโจทก์เช่นกัน
(๕) ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงทางการค้า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า เมื่อโจทก์ผิดสัญญาส่งมอบขวดไม่ครบจำนวนแล้วความนิยมของตลาดในสินค้าของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรมีผลกระทบต่อชื่อเสียงทางการค้าของจำเลยอย่างไรก็ไม่ปรากฏจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายส่วนนี้
สรุปแล้ว โจทก์ต้องรับชำระเงินแก่จำเลยคือเบี้ยปรับที่ส่งมอบขาดไม่ครบตามสัญญาจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าขวดแก่โจทก์เป็นเงิน ๕๗๒,๑๙๕.๘๐ บาทหักกลบลบหนี้แล้ว โจทก์ต้องรับผิดชำระให้แก่จำเลยเป็นเงิน๔๒๗,๘๐๔.๒๐ บาท ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน ๔๒๗,๘๐๔.๒๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share