คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว และใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยมา 3 ปี ยังไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะพึงแก้ไขแต่เห็นว่าการที่จำเลยให้การว่า จำเลยเข้าไปจับรถคันของผู้เสียหายออก และภายหลังได้นำเอาไปจอดไว้ที่เดิมนั้นเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษซึ่งจำเลยสมควรจะได้รับการลดโทษ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้ลดโทษจำเลย 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยไว้ 2 ปี นั้น เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แล้วแก้ไขเล็กน้อยในการใช้ดุลพินิจลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คดีจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์แก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ปัญหาว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ให้จำคุก ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลดโทษให้จำเลย ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้จำคุกจำเลย ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว และใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยมา ๓ ปี ยังไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะพึงแก้ไข แต่การที่จำเลยให้การว่าจำเลยเข้าไปจับรถคันของผู้เสียหายออกและภายหลังได้นำเอาไปจอดไว้ที่เดิมนั้น เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งจำเลยสมควรจะได้รับการลดโทษ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้ลดโทษจำเลย ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้ ๒ ปีนั้น เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แล้วแก้ไขเล็กน้อยในการใช้ดุลพินิจลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คดีจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์แก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ และที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลย โดยอาศัยเหตุที่ว่าที่จำเลยให้การว่าได้นำรถของผู้เสียหายไป และนำมาคืนนั้นเป็นการให้ความรู้แก่ศาล เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาปัญหาที่ว่าคำให้การของจำเลยเช่นนี้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share