คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3800/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าได้ครอบครองที่ดินและตึกแถวที่พิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินสิบปีจึงได้กรรมสิทธิ์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดย ป.ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อนุญาต จึงเป็นการที่จำเลยยึดถือครอบครองแทน ป. เมื่อมิใช่ ป.ได้ยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลยยึดถือครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ดังนั้นไม่ว่า ว.และโจทก์ได้ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริตหรือไม่จำเลยก็ไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินและตึกแถวพิพาทมีอัตราค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 15,000 บาท แต่ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวเพียงแต่แก้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ปัญหาเรื่องค่าเสียหายจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารตึกแถวเลขที่ 905 ซึ่งตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 12533, 12539ตำบลบางกะจะ (วัดใหม่) อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรีโดยโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายวันชัย สิทธิสัมพันธ์ขอบังคับให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวเลขที่ 905 ถนนท่าแฉลบ อำเภอเมืองจันทบุรีจังหวัดจันทบุรี ของโจทก์ และห้ามยุ่งเกี่ยวอีกต่อไปกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 15,000 บาทนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวพิพาท
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 12533, 12539 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายประดิษฐ์ มโนรมย์ภัทรสาร ซึ่งเป็นพี่เขยจำเลย นายประดิษฐ์ให้จำเลยเข้าอาศัยอยู่ในตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมาต่อมาต้นปี 2524 นายประดิษฐ์และนางสายใจจึงได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 12533, 12539 พร้อมตึกแถวเลขที่ 905ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่การยกให้ดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากจำเลยได้รับการยกให้แล้วจำเลยได้ครอบครองที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทโดยสงบเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 14 ปีไม่มีผู้ใดโต้แย้งและคัดค้าน จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์จึงรับซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกพิพาทโดยไม่สุจริต กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกพิพาทจึงยังเป็นของจำเลย ค่าเสียหายของโจทก์เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากตึกแถวของโจทก์เลขที่ 905 และห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 3,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยเป็นน้องสาวนางสายใจ มโนรมย์ภัทรสาร ทั้งสองเป็นบุตรนายฮุ้น ชาญพนา และนางฮวด ชาญพนา นางสายใจเป็นภริยานายประดิษฐ์ มโนรมย์ภัทรสาร อาคารตึกแถวสี่ชั้นเลขที่ 905พร้อมที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามโฉนดเลขที่ 12533 และ 12539เดิมมีชื่อนายประดิษฐ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยซื้อมาจากบริษัทโรงแรมจิตจันทร์ จำกัด จำเลยเป็นผู้อยู่อาศัยในที่ดินและตึกแถวพิพาทตั้งแต่ประมาณปี 2523 ถึงปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2536 นายประดิษฐ์ จดทะเบียนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้นายวันชัย สิทธิสัมพันธ์ และวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 นายวันชัยจดทะเบียนขายให้โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่จำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนอ้างตนเอง ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างสรุปได้ว่า จำเลยอ้างว่านายประดิษฐ์ได้อนุญาตให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและตึกแถวพิพาทเมื่อปี 2523มูลเหตุจูงใจที่นายประดิษฐ์พูดยกที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยเนื่องจากนายประดิษฐ์และนางสายใจเห็นว่าเมื่อวันที่20 สิงหาคม 2522 นายฮุ้นได้ยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 46/1ให้นางสายใจนอกจากนายฮุ้นได้ยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 46/1ให้นางสายใจแล้วนายฮุ้นยังได้ยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 24ให้จำเลย ไม่ปรากฏว่านายฮุ้นและนางฮวดมีบุตรคนอื่นอีกนอกจากนางสายใจและจำเลยเพียง 2 คน การที่นายฮุ้นและนางฮวดยกที่ดินพร้อมบ้านให้นางสายใจและจำเลยคนละแปลงจึงเป็นการแบ่งทรัพย์สินให้แก่บุตรโดยเสน่หาตามปกติ นายฮุ้นได้ยกที่ดินพร้อมบ้านให้นางสายใจซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งของตนตั้งแต่ปี 2522โดยมีเงื่อนไขให้นางสายใจต้องปฏิบัติตลอดชีวิตนายฮุ้นราคาที่ดินพร้อมบ้านที่นายฮุ้นยกให้ก็ปรากฏตามทุนทรัพย์คำฟ้องที่นายฮุ้นฟ้องเพิกถอนมีราคา 1,000,000 บาท เป็นราคาใกล้เคียงกับที่ดินและตึกแถวพิพาท ตามที่ปรากฏในสัญญาขายที่ดินของกรมที่ดินระบุราคา 600,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.15 นอกจากนี้ยังได้ความว่านายประดิษฐ์และนางสายใจมีบุตรถึง 4 คน การที่นายฮุ้นยกที่ดินพร้อมบ้านให้นางสายใจจึงไม่น่าจะมีผลจูงใจให้นายประดิษฐ์ยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า การที่จำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยนายประดิษฐ์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อนุญาต เป็นการยึดถือครอบครองแทนนายประดิษฐ์ แต่พยานหลักฐานจำเลยไม่พอรับฟังว่านายประดิษฐ์ได้ยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลยยึดถือครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของ และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์และนายวันชัยจะซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริตหรือไม่จำเลยก็ไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายเรื่องค่าเสียหายโจทก์ฎีกาว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทมีอัตราค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 15,000 บาท นั้น ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวเพียงแต่แก้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1กำหนดค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ปัญหาเรื่องค่าเสียหายจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยได้อีก
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share