คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของตน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยตรงตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แล้ว แต่โจทก์ที่ 4 หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมา ซึ่งคดีจะขาดอายุความ อันทำให้คำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นสิ้นผลลง จำเลยที่ 1 จึงแจ้งจำเลยที่ 2 ดำเนินการกับทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงเกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หาใช่เป็นการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ดังที่โจทก์ทั้งสี่อ้าง
จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือความเห็นแย้งจากพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ว่าคดียังไม่มีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน วันที่ 18 เมษายน 2557 คณะกรรมการธุรกรรมประชุมและมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและมีมติควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด และส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมคณะกรรมการแต่ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนลาออกทำให้มีจำนวนไม่ครบ 9 คน วันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 9 คน วันที่ 25 มีนาคม 2558 เลขาธิการฯ เสนอเรื่องความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา วันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการได้พิจารณาความเห็นแย้งดังกล่าว โดยมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีถือได้ว่าคณะกรรมการได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการฯ ตามมาตรา 49 วรรคสาม แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันหยุดหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ ในการดำเนินคดีตามมาตรการของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสี่ที่ถูกอายัด กับให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งหรือมติใด ๆ ที่ออกโดยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คณะกรรมการธุรกรรม และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสี่ที่ถูกอายัด และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงินวันละ 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะหยุดหรืองดเว้นกระทำการกับทรัพย์สินที่ถูกอายัด
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนด ค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินต่าง ๆ ภายในประเทศรวมตลอดถึงธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดให้รับโทษทางอาญาฐานฟอกเงินและรับผิดทางแพ่งเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และโจทก์ทั้งสี่บรรยายมาในฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสี่ ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายด้านทรัพย์สิน ชื่อเสียงและเกียรติยศ ด้วยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายจักรกริศน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของจำเลยที่ 1 ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ที่ 4 ร่วมกับบุคคลอื่นอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้กลุ่มนายสุเทพโดยมิชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นความเท็จ และจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมซี่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 2 มีคำสั่งที่ ย.48/2547 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2547 และคำสั่งที่ ย.51/2547 ลงวันที่ 7 เมษายน 2547 ให้อายัดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสี่รวม 27 รายการ มติของคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 9/2556 วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ที่ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการร้องขอให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และการกระทำของเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่กระทำผิดต่อกฎหมาย มติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการประชุมครั้งที่ 2/2558 วันที่ 30 มีนาคม 2558 ที่เห็นชอบให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ถูกอายัดนั้นตกเป็นของแผ่นดินเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทรัพย์สินที่ถูกอายัดเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสี่ได้มาโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายเป็นระยะเวลานาน ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ทั้งสี่มีคำขอบังคับขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันหยุดหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ ในการดำเนินคดีตามมาตรการของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับทรัพย์สินที่ถูกอายัดของโจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงินวันละ 50,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะหยุดหรืองดเว้นกระทำการกับทรัพย์สินที่ถูกอายัด กรณีจึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้โดยตรงตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แม้โจทก์ทั้งสี่จะมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งหรือมติใด ๆ ที่ออกโดยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คณะกรรมการธุรกรรม และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมาด้วยก็ตาม โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ที่ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดและต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่เพียงใดนั้น ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ใด (4) ให้สินเชื่อหรือลงทุนเกินอัตราที่กำหนด หรือให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด” วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ธนาคารพาณิชย์นั้นกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ หรือแก้ไขการดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ในการนี้จะกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาด้วยก็ได้” และมาตรา 24 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีมีอำนาจตั้งผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์เพื่อตรวจสอบและรายงานกิจการและสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ หรือจะมอบอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ก็ได้ แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ รัฐมนตรีจะตั้งหรือมอบอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ให้ทำการตรวจเพื่อทราบกิจการหรือทรัพย์สินของเอกชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะที่มีหรือปรากฏอยู่ในธนาคารพาณิชย์ใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 35 (3)” ซึ่งมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา 24 หรือมาตรา 26 ให้ผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วแต่กรณีมีอำนาจดังต่อไปนี้ (3) เข้าไปตรวจสอบฐานะหรือการดำเนินงานในสถานที่ประกอบธุรกิจของลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งสั่งให้ลูกหนี้หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าธนาคารพาณิชย์กระทำการตามมาตรา 22 (3) (4) หรือ (5)” ดังนั้น หากเกิดข้อเท็จจริงว่าธนาคารพาณิชย์ใดให้สินเชื่อหรือลงทุนเกินอัตราที่กำหนดหรือให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ซึ่งพยานจำเลยทั้งสองก็ได้เบิกความยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับได้ความจากนายจักรกริศน์ว่า จำเลยที่ 1 และผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์เคยมีคำสั่งและตั้งข้อสังเกตในเรื่องการวิเคราะห์สินเชื่อลักษณะดังกล่าวให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ทราบและถือปฏิบัติแล้วหลายครั้ง แต่จากการตรวจสอบของผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์และคณะกรรมการสอบสวนภายในของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) พบว่าคณะกรรมการพิจารณาให้สินเชื่อชุดบริหารที่มีโจทก์ที่ 4 เป็นกรรมการอยู่ฝ่าฝืนหรือละเลยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ทราบรายงานดังกล่าวแล้วจึงมีหนังสือถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การรับทราบการตรวจสอบธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสี่ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีคำสั่งให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) งดให้สินเชื่อหรือให้แก้ไขวิธีการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้กลุ่มนายสุเทพแต่อย่างใดจึงฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้ยังได้ความจากนายวรศิลป์ว่า เมื่อตรวจสอบบัญชีลูกหนี้กลุ่มนายสุเทพพบว่าการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้กลุ่มนายสุเทพส่วนใหญ่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาให้สินเชื่อชุดบริหารอนุมัติแล้ว ลูกหนี้ก็ได้รับเงินสินเชื่อไปก่อนวันที่คณะกรรมการบริหารจะอนุมัติ และการอนุมัติสินเชื่อแต่ละครั้งเกินอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาให้สินเชื่อชุดบริหาร ซี่งโจทก์ที่ 4 ก็เบิกความเจือสมว่า ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งคณะกรรมการพิจารณาให้สินเชื่อชุดบริหารซึ่งมีอำนาจพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในงบดุลไม่เกิน 60,000,000 บาท และนอกงบดุลไม่เกิน 120,000,000 บาท หากเกินวงเงิน คณะกรรมการบริหารจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ซึ่งขัดแย้งกับสำเนาอนุมัติสินเชื่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ทั้งยังได้ความจากนายสมศักดิ์ว่า เมื่อตรวจสอบกระแสเงินกู้ของลูกหนี้กลุ่มนายสุเทพและการทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ที่ 4 พบว่าโจทก์ที่ 4 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 43 โฉนด ระหว่างกระทำความผิด โดยที่ดินบางส่วนนายธีระชัยเป็นผู้ชำระราคาด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่เจ้าของที่ดินกลับโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ที่ 4 ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวกับการกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงร้องทุกข์ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ 4 กับบุคคลอื่นอีก ในความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และประมวลกฎหมายอาญา และเนื่องจากความผิดที่จำเลยที่ 1 ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (4) (เดิม) คือ ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทำโดยกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น การที่จำเลยที่ 1 รายงานการดำเนินคดีดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป หาใช่เป็นการร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสี่แต่ประการใด
ที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์อ้างว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อฟื้นคดีและดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน 27 รายการ ของโจทก์ทั้งสี่อีกนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดใด เป็นทรัพย์สินที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นตามกฎหมายดังกล่าว หรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวแล้วแต่ไม่เป็นผล หรือการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ก็ให้ดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้” บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สินที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นตามกฎหมายอื่นด้วย หากการดำเนินการนั้นไม่เป็นผลก็ให้ดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นต่อไปโดยขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 4 หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมา ซึ่งคดีจะขาดอายุความ อันทำให้คำสั่งอายัดสิ้นผลลง จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการกับทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ให้ตกเป็นของแผ่นดินต่อไป จึงเป็นกรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แล้ว แต่ไม่เป็นผล และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จะเกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หาใช่เป็นการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ดังที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้าง
ที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองลบชื่อและชื่อสกุลของโจทก์ที่ 4 รวมทั้งหมายเลขลูกค้าจากสำเนารายการซื้อขายหลักทรัพย์ มีเจตนาเพื่อไม่ให้พนักงานบริษัทที่เกี่ยวข้องทราบว่าสำเนารายการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นของโจทก์ที่ 4 เพื่อมิให้โจทก์ที่ 5 มีหลักฐานว่านำเงินจากการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวมาซื้อทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งอายัดไว้นั้น เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของนางสาวทิพย์วรรณกับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง เพียงเพื่อต้องการให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริง อีกทั้งนางสาวทิพย์วรรณเบิกความถึงหน้าที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของตนได้สมเหตุสมผลเพราะการตรวจสอบดังกล่าวก็เพียงเพื่อให้ทราบว่าโจทก์ที่ 4 เป็นลูกค้าของบริษัทฯ และมีการซื้อขายหลักทรัพย์จริงหรือไม่เท่านั้น การปิดชื่อ ชื่อสกุล แล้วนำไปถ่ายสำเนาโดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ มีอคติและสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องจึงเป็นเหตุผลที่ฟังได้ ไม่เป็นพิรุธถึงขนาดที่จะบ่งชี้ว่านางสาวทิพย์วรรณกับพวกมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสี่แต่ประการใด
ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์อ้างว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่ได้พิจารณาความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับเรื่องจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ถือว่าความเห็นแย้งของพนักงานอัยการเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม การที่จำเลยทั้งสองดำเนินคดีกับทรัพย์สิน 27 รายการ ของโจทก์ทั้งสี่ต่อไปจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือความเห็นแย้งจากพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ซึ่งเห็นว่าคดียังไม่มีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน วันที่ 18 เมษายน 2557 คณะกรรมการธุรกรรมประชุมและมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม คณะอนุกรรมการวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 30 พิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และมีมติควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดินเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 และส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณา วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแต่ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณา เนื่องจากมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลาออก 4 คน ทำให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่ครบ 9 คน วันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 9 คน วันที่ 25 มีนาคม 2558 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอเรื่องความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณา วันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงได้พิจารณาความเห็นแย้งของพนักงานอัยการ โดยมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีจึงถือได้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสามแล้ว
ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า การที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งอายัดทรัพย์ที่ ย.48/2547 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2547 และคำสั่งที่ ย.51/2547 ลงวันที่ 7 เมษายน 2547 อายัดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสี่ไว้และต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมมีมติครั้งที่ 9/2556 วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 อันเป็นการจูงใจกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสี่ให้ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้มีคณะกรรมการธุรกรรมคณะหนึ่ง โดยมาตรา 34 (1) และ (3) บัญญัติให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และดำเนินการตามมาตรา 48 ซึ่งได้แก่ อำนาจในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวในกรณีที่ตรวจสอบรายงานและข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นแล้วมีการรายงานต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ย่อมเป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตรวจสอบแล้วพบว่าในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้กลุ่มนายสุเทพมีความผิดปกติโดยโจทก์ที่ 4 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับพบว่าโจทก์ที่ 4 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในช่วงเวลากระทำความผิด ย่อมทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเสนอรายงานต่อคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อพิจารณา เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสี่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีคำสั่งยึดและ/หรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว และมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเป็นการปฏิบัติการไปตามหน้าที่จึงชอบแล้ว ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share