คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4823/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลมีบทบาทในการควบคุมดูแลการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เมื่อได้คำนึงถึงประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้รับคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาตามที่พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/45 กำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ได้
พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/27, 90/60 ประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรแต่เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งเมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และมีคำสั่งตั้งให้ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าในการประชุมเจ้าหนี้ เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่ได้มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๖ ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๖
เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในส่วนที่ ๑๐ ว่าด้วยการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้กลุ่ม ข. ซึ่งแผนได้กำหนดวิธีการจัดสรรคืนแก่เจ้าหนี้ไว้ในข้อ ๑๐.๓.๓ วรรคสาม ว่า “หากรายได้จากการขายทรัพย์สินต่ำกว่ายอดหนี้ที่ค้างชำระให้ถือว่าส่วนดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดจากวันที่ค้างชำระถึงวันที่เจ้าหนี้ได้รับเงินจัดสรร และส่วนต้นเงินค้างชำระหลังจากการจัดสรรเงินชำระหนี้เสร็จสิ้นลง เจ้าหนี้ไม่ติดใจเรียกร้องทั้งหมด…” แผนฟื้นฟูกิจการส่วนนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๕๘ เนื่องจากหนี้ภาษีอากรมีลักษณะแตกต่างจากมูลหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่ยื่นคำขอชำระหนี้ โดยหนี้ภาษีอากรนั้นเกิดโดยผลของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลรัษฎากร กฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายเฉพาะและให้ความสำคัญแก่มูลหนี้ภาษีอากรแตกต่างจากมูลหนี้สามัญอื่น ๆ ดังเช่นในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ หมวด๑ ส่วนที่ ๖ ว่าด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย มาตรา ๕๖ ส่วนที่ ๑๐ การปลดจากล้มละลาย มาตรา ๗๗ ก็ได้บัญญัติสอดคล้องต้องกันว่า การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบแล้วนั้น แม้จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดแต่ก็ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ภาษีอากร และการที่จะงด ลดหรือตัดทอนจำนวนหนี้ภาษีอากรนั้นจะต้องทำตามเงื่อนไขบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากร การที่ให้ผู้ทำแผนสามารถทำแผน งดหรือลดหนี้ของเจ้าหนี้ได้ และเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแผนแล้วจะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งปวง แต่หนี้ดังกล่าวนั้นหาได้รวมถึงหนี้ภาษีอากรด้วยไม่ เพราะหนี้ภาษีอากรเจ้าหนี้ทั้งปวงไม่มีอำนาจที่จะประชุมหรือมีมติในทำนองนั้น แผนฟื้นฟูกิจการตามข้อ ๑๐.๓.๓ วรรคสาม จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ และขัดต่อประมวลรัษฎากรที่ให้อำนาจรัฐจัดเก็บภาษี เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีอำนาจลงมติให้ผูกพันหนี้ภาษีอากรได้ มติเห็นชอบในแผนดังกล่าวจึงไม่ผูกพันหนี้ภาษีอากร ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนแก้ไขฟื้นฟูกิจการในข้อ ๑๐.๓.๓ วรรคสาม ข้อ ๑๐.๔.๒ (๓) และข้อ ๑๐.๔.๓ (๒) วรรคสอง ว่าให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากภาระหนี้สินยกเว้นเจ้าหนี้ภาษีอากร หากผู้ทำแผนไม่ยอมแก้ไขแผนก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้นเป็นหนี้ภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระเกิน ๖ เดือน จึงไม่มีบุริมสิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐ (๖) แผนฟื้นฟูกิจการจึงจัดให้เจ้าหนี้อยู่ในเจ้าหนี้กลุ่ม ข. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน แผนฟื้นฟูกิจการนั้นมีรายการครบถ้วนแล้ว ที่เจ้าหนี้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการโดยเพิ่มเติมว่า ยกเว้นเจ้าหนี้ภาษีอากร ในข้อ ๑๐.๓.๓ วรรคสาม ข้อ ๑๐.๔.๒ (๓) ข้อ ๑๐.๔.๓ (๒) วรรคสองนั้น ถ้าหากมีการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวก็จะเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะหนี้ภาษีอากร ซึ่งทำให้สิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน แผนฟื้นฟูกิจการจะไม่เป็นไปตามมาตรา ๙๐/๔๒ ตรี อันจะขัดต่อกฎหมาย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า ในคดีล้มละลายและคดีฟื้นฟูกิจการแม้ว่าเหตุที่เข้าสู่กระบวนการทางศาลเหมือนกัน คือ ลูกหนี้ต้องมีหนี้สินล้นพ้นต้ว แต่ในคดีฟื้นฟูกิจการกฎหมายได้คำนึงถึงการรักษากิจการของลูกหนี้เอาไว้ อันจะส่งผลถึงบุคคลภายนอกที่ต้องพึ่งพาตัวลูกหนี้ตลอดจนเศรษฐกิจของชาติโดยรวม ทั้งกฎหมายฟื้นฟูกิจการมีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งว่า เจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย บทบัญญัติในส่วนคดีฟื้นฟูกิจการนั้นอยู่ในหมวด ๓/๑ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงบัญญัติไว้ต่างหากอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นนี้ในกรณีใดที่กฎหมายฟื้นฟูกิจการบัญญัติไว้แล้ว ก็ไม่ต้องนำบทบัญญัติส่วนล้มละลายมาใช้บังคับอีก ที่กฎหมายบัญญัติให้มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๙๐/๒๖ และมาตรา ๙๐/๒๗ ถ้าไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาดังกล่าว เจ้าหนี้ผู้นั้นก็อาจหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้นจะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ตามมาตรา ๙๐/๖๑ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อให้ทราบถึงจำนวนหนี้ของลูกหนี้ทั้งหมดเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในการฟื้นฟูกิจการด้วย เมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามมาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี และมาตรา ๙๐/๕๘ แล้ว บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเฉพาะเจาะจงให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรต่างหากจากเจ้าหนี้อื่นโดยมีเงื่อนไขยกเว้นไม่ให้หนี้ภาษีอากรต้องผูกพันตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้แต่อย่างใด กฎหมายเพียงบัญญัติว่า เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันจะต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน คดีนี้ผู้ทำแผนได้จัดให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันอยู่ในกลุ่ม ข. หากเจ้าหนี้เห็นว่าผู้ทำแผนจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มได้ แต่เจ้าหนี้ก็ไม่ได้คัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้แต่อย่างใด ในคดีฟื้นฟูกิจการแม้เจ้าหนี้ภาษีอากรจะถูกตัดปรับลดหนี้เท่าใดก็ตาม แต่เจ้าหนี้ก็ต้องได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และหากลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รัฐย่อมมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งจากการประกอบการของลูกหนี้และรายได้ของลูกจ้างของลูกหนี้ ตลอดจนกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับลูกหนี้อีกด้วย เช่นนี้ การดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายฟื้นฟูกิจการจึงไม่น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเห็นว่าในมูลหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการนั้น แผนฟื้นฟูกิจการสามารถกำหนดให้หนี้ดังกล่าวถูกตัดปรับลดได้ตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไข
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในข้อ ๑๐.๓.๓ วรรคสาม ข้อ ๑๐.๔.๒ และข้อ ๑๐.๔.๓ ในทำนองว่าหลังจากปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้วลูกหนี้ยังต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรอยู่นั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ก่อนที่ศาลจะพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งผู้ทำแผนแก้ไขแผนได้หรือไม่ เห็นว่า ในการขอแก้ไขแผนนั้น เจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๕ และการที่ศาลจะพิจารณาแผนที่มีการแก้ไขแล้วได้นั้น แผนที่มีการแก้ไขดังกล่าวจะต้องผ่านการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้มาแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๖ แต่อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั้น เมื่อได้คำนึงถึงเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินการต่อไปได้ ทั้งกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้รับคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า แผนฟื้นฟูกิจการจะกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๒๗ บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ..” และมาตรา ๙๐/๖๐ บัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้…” กฎหมายจึงประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จไป นอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เช่น ผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา ๕๖ การปลดจากล้มละลายตามมาตรา ๗๗ หนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา ๙๐/๒๗ วรรคสาม หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผนตามมาตรา ๙๐/๖๒ (๒) หรือหนี้ภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายใน ๖ เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๐ (๖) เช่นนี้ เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา ๙๐/๕๘ (๒) ประกอบด้วยมาตรา ๑๓๐ (๖) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งเมื่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯหมวด ๓/๑ ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา ๙๐/๖๐ วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา ๕๖ ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมดังที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อนึ่ง คดีนี้ศาลล้มละลายกลางยังไม่ได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน เป็นการไม่ชอบด้วยข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๒๔ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนในทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

นายเอื้อน ขุนแก้ว ผู้ช่วยฯ
นายเจษฎา ชุมเปีย ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายชีพ จุลมนต์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share