คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3678/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่จำเลยให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดโดยอาศัย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา เมื่อปรากฏว่าข้อมูลที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจจนสามารถจับคนร้ายซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายยาเสพติดให้โทษได้นั้น เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยจึงไม่อาจที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ อาวุธปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .22 MAGNUM และอาวุธปืนรูปร่างคล้ายปากกา ขนาด .357 MAGNUM ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3176/2550 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,200,000 บาท ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 35 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 แต่กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ อาวุธปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .22 MAGNUM และอาวุธปืนพกรูปร่างคล้ายปากกา ขนาด .357 MAGNUM ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3176/2550 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ปรับ 1,000,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน 10 วัน และปรับ 666,666.67 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 34 ปี 13 เดือน 10 วัน และปรับ 666,666.67 บาท คืนอาวุธปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .22 MAGNUM เครื่องหมายทะเบียน กท 696488 เลขหมายประจำปืน 114065 แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาเพียงว่า กรณีมีเหตุที่จำเลยจะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ภายหลังจากจำเลยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินจนสามารถจับคนร้ายซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายยาเสพติดให้โทษได้ จึงขอรับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่จำเลยให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา เมื่อปรากฏว่าข้อมูลที่จำเลยอ้างว่า เป็นผู้ให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินจนสามารถจับคนร้ายซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายยาเสพติดให้โทษได้นั้น เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว จำเลยจึงไม่อาจที่จะรับประโยชน์จากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 และข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นข้อที่มิได้มีการยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share