คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4817/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็ฟ้องขอให้บังคับอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระหนี้โดยอ้างสัญญากู้ยืมเงิน และบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันก็ตาม แต่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 26197/2541 นั้น โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ผิดข้อตกลงที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันทำให้โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ไม่สามารถนำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบประทับตราอนุญาตให้จัดสรรที่ดินและโอนให้แก่ผู้ซื้อได้ ส่วนในคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 กับพวก รับผิดชำระเงินที่กู้ยืมคืนโจทก์โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้จึงแตกต่างกับในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 26197/2541 กรณีจึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกในคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 128,576,091.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ของต้นเงิน 109,121,671.95 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสิบสี่ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างและยึดหุ้นสามัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 14 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 12 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญากู้ยืมเงินและบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาต่างๆ ดังกล่าวตลอดมาแต่โจทก์กลับเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ที่ 10 ที่ 13 และที่ 14 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้ยืมเงินและบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม 2540 ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยที่ 8 ที่ 10 ที่ 13 และที่ 14 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนำหุ้น ลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม การบังคับจำนำก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 11 ให้การว่า สัญญาจำนำหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 11 ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 11 แต่หากต้องรับผิดก็รับผิดเฉพาะในฐานะผู้จำนำเท่านั้น หาต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดไม่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสิบสี่โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องว่าได้รับโอนสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องในคดีนี้มาจากโจทก์ ขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากสำนวนได้ความว่า ภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบสี่เป็นคดีนี้ จำเลยที่ 1 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยในข้อหาผิดสัญญาปรากฏตามคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 26197/2541 ของศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม 2540 ขอให้บังคับจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ชำระเงิน 70,148,328 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้ดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 246313 ถึง 246332, 246334 ถึง 246351 และ 246352 ถึง 246387 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว เพื่อตรวจสอบและประทับตราอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน เมื่อดำเนินการแล้วก็ให้เป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ กับให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) รับชำระเงินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นรายแปลงรวมเป็นเงิน 131,229,000 บาท เมื่อชำระเงินครบ 109,121,671.95 บาท แล้ว ให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) คืนโฉนดที่ดินทั้งหมดแก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ให้การในทำนองว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษาให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้ไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินในส่วนที่ 3 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 246313 ถึง 246332 และ 246334 ถึง 246351 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) เมื่อโจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ได้ออกเช็คตามจำนวนเงินและเงื่อนไขบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันให้แก่จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) แล้ว และให้ไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินในส่วนที่ 4 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 246352 ถึง 246387 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) เมื่อโจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา เมื่อดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองแล้วให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) เพื่อดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบและประทับตราอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเมื่อดำเนินการแล้วให้โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ส่งมอบโฉนดที่ดินคืนจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ยึดถือไว้ และเมื่อโจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ชำระเงินตามเงื่อนไขในสัญญากู้ยืมเงินและบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินอันเป็นหลักประกันสำหรับที่ดินตามโฉนดแปลงใดก็ให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) อุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามลำดับ เห็นว่า แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็ฟ้องขอให้บังคับอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระหนี้โดยอ้างสัญญากู้ยืมเงิน และบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันก็ตาม แต่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 26197/2541 นั้น โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ผิดข้อตกลงที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันทำให้โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ไม่สามารถนำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบประทับตราอนุญาตให้จัดสรรที่ดินและโอนให้แก่ผู้ซื้อได้ ส่วนในคดีโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดชำระเงินที่กู้ยืมคืนโจทก์โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 กับพวกไม่ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้จึงแตกต่างกับในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 26197/2541 กรณีจึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกในคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกันนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อปรากฏว่า ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาที่คู่ความทั้งสองฝ่ายโต้แย้งกันให้ครบถ้วน จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นอื่นซึ่งยังไม่ได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share