คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4253/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมิใช่บุคคลที่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา (3) ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อ ศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศนั้น จึงมิได้ เป็นวิธีการบังคับคดีที่เกี่ยวกับจำเลย แม้จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ก็ไม่อยู่ในฐานะผู้ต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้นตามมาตรา 296 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีด้วยเหตุดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลยและบริวาร โดยให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์แต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จำเลยและบริวารปฏิบัติตามคำบังคับโดยกำหนดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2537
จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีโดยไม่ชอบ เพราะมิได้ประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่มิใช่บริวารของจำเลยแต่มีสิทธิจะอยู่ในที่ดินพิพาทได้ทราบ เพื่อว่าบุคคลดังกล่าวจะได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลก่อน ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีอำนาจออกหมายบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขอให้เพิกถอนการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา (3) จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติว่า”ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆโดยเฉพาะหรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่เห็นสมควร ฯลฯ” และมาตรา 296 จัตวาบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกตามคำบังคับของศาลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังนี้ต่อไป
(1) …
(2) …
(3) ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล ภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา” เมื่อจำเลยมิใช่บุคคลที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น วิธีการบังคับคดีที่จำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศนั้นจึงมิใช่เป็นวิธีการบังคับคดีที่เกี่ยวกับจำเลย แม้จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะผู้ต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีด้วยเหตุนี้ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยตามที่จำเลยฎีกา”
พิพากษายืน

Share