แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ. ทำพินัยกรรมมอบแก่พระครูน.เก็บรักษาไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1ได้มาขอรับเอาพินัยกรรมดังกล่าวไป แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมนำออกมาเปิดเผย เพื่อมิให้โจทก์ได้รับมรดกตามพินัยกรรม เมื่อโจทก์ขอพินัยกรรมจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมให้ดู ดังนี้ จึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งพินัยกรรมของ ฟ. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แต่โจทก์มิได้ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มายังศาลภายใน10 ปีนับแต่วันกระทำผิดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 188,83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ให้ประทับฟ้อง ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 จำคุก 9 เดือน คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษมาหรือไม่พิเคราะห์แล้ว พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายฟูได้ทำพินัยกรรมมอบแก่พระครูนพ บุราจารย์เก็บรักษาไว้ และจำเลยที่ 1ได้มาขอรับเอาพินัยกรรมดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2523 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมนำออกมาเปิดเผย เพื่อมิให้โจทก์ได้รับมรดกตามพินัยกรรมของนายฟู เมื่อโจทก์ขอพินัยกรรมดังกล่าวจากจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมให้ดู การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งพินัยกรรมของนายฟู ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันกระทำผิด เป็นอันขาดอายุความตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)บัญญัติไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเอาไปเสียซึ่งพินัยกรรมของนายฟูในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2523 โจทก์เพิ่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์2533 และได้ตัวจำเลยมายังศาลเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ปัญหาข้อนี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้จำเลยจะไม่ได้ยกเป็นข้อแก้ฎีกาก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน