คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมียาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลียงอากรอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร กับมียาสูบจำนวนเดียวกันโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบในวันเวลาเดียวกัน ดังนี้เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาในผลอย่างเดียวกัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำผิดของจำเลยเป็นสองข้อและจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ และรับไว้ซึ่งยาสูบเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศและมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยจำเลยรู้อยู่แล้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และจำเลยซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบได้มีของกลางดังกล่าวโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายไว้ในครอบครองเกินกำหนดตามกฎหมายเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ตามที่ได้แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๑๙, ๒๔, ๔๙, ๕๐ ตามที่ได้แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ริบของกลางและจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่ายยาสูบซิกาแรตต่างประเทศ ปรับ ๙๔,๗๘๘.๙๖ บาท ฐานมียาสูบที่ไม่ได้ปิดแสตมป์ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ปรับ ๒๒๕,๐๐๐ บาท รวมปรับ ๓๑๙,๗๘๘.๙๖ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานไปบ้างแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงปรับ ๒๑๓,๑๙๒.๖๔ บาท ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ปรับ ๙๔,๗๘๘.๙๖ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงปรับ ๖๓,๑๙๒.๖๔ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยมียาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตามกฎหมาย กับการที่จำเลยมียาสูบจำนวนเดียวกันนั้นโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบในวันเวลาเดียวกัน เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาในผลอย่างเดียวกัน คือ การหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะแยกบรรยายการกระทำความผิดของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ ก.และข้อ ข. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันและจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ศาลจะลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้
พิพากษายืน

Share