แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สุกรตัวเกิดเหตุมีน้ำหนักเกือบ 200 กิโลกรัม ไม่สามารถอุ้มหรือจับไปได้โดยง่ายทั้งวัดเจ้าของสุกรก็ไม่ได้กักขัง แต่ปล่อยให้มีอิสระไปไหนมาไหนได้ ขณะที่นายดาบตำรวจ อ. เข้าจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กำลังช่วยกันดึงและผลักดันสุกรให้เข้าไปในซองบรรจุ สุกรยังไม่ได้เข้าไปในซองทั้งตัว ทั้งยังไม่ได้นำขึ้นรถ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ยังไม่อยู่ในฐานะที่สามารถจะนำสุกรไปได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 จึงยังไม่บรรลุผล คงเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,334, 335(1)(7), 336 ทวิ และริบซองบรรจุสุกรของกลาง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 335(1)(7) (ที่ถูก 335(1)(7) วรรคสอง), 336 ทวิ จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 คนละ 1 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 9 เดือน คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ปี และจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 6 เดือน ริบของกลาง ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 6
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนายดาบตำรวจอรรถพร คัดทะจันทร์ พบจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กำลังต้อนจับสุกรหนึ่งตัวของวัดโสมนัสประดิษฐ์เข้าไปในซองเหล็ก จึงร่วมกับพวกจับกุมจำเลยทั้งหก สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 6 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของพระครูมานิตปฏิภาณ ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดโสมนัสประดิษฐ์พยานโจทก์ว่า สุกรตัวเกิดเหตุเป็นสุกรที่ชาวบ้านถวายให้แก่วัดมานานประมาณ 10 ปี เนื่องจากเป็นสุกรที่มี 5 เล็บ ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นเสนียดจัญไร วัดเลี้ยงสุกรดังกล่าวไว้โดยไม่ได้ขัง สุกรดังกล่าวมักออกไปหากินนอกวัด ชาวบ้านในละแวกที่เกิดเหตุต่างทราบว่าเป็นสุกรของวัดพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เดินเลี่ยงจากสุกรที่กำลังต้อนเมื่อนายดาบตำรวจอรรถพรหยุดรถจักรยานยนต์ดู แล้วกลับมาต้อนจับสุกรนั้นในอีกประมาณ 10 นาทีต่อมา หลังจากที่นายดาบตำรวจอรรถพรขับรถจักรยานยนต์เลยไป เมื่อรับฟังประกอบกับคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 มีเจตนาลักทรัพย์สุกรดังกล่าว สุกรตัวเกิดเหตุมีน้ำหนักเกือบ 200 กิโลกรัม ไม่สามารถอุ้มหรือจับไปได้โดยง่าย ทั้งวัดเจ้าของสุกรก็ไม่ได้กักขัง แต่ปล่อยให้มีอิสระไปไหนมาไหนได้ ขณะที่นายดาบตำรวจอรรถพรเข้าจับกุม จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กำลังช่วยกันดึงและผลักดันสุกรให้เข้าไปในซองบรรจุ สุกรยังไม่ได้เข้าไปในซองทั้งตัว ทั้งยังไม่ได้นำขึ้นรถ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ยังไม่อยู่ในฐานะที่สามารถจะนำสุกรไปได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 จึงยังไม่บรรลุผล คงเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน อย่างไรก็ดีขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 5 อายุเพียง 16 ปีเศษและยังอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียน สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 5 ได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป และประพฤติตัวเสียใหม่เพื่ออนาคตในภายภาคหน้า แต่เพื่อให้จำเลยที่ 5 หลาบจำและไม่หวนกลับมากระทำความผิดอีกสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยที่ 5 ไว้ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสอง, 336 ทวิ, 83, 80 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 อายุกว่า 17 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี และจำเลยที่ 5 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 และ 75 ตามลำดับ จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 5 อีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 1,500 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 5 คนละ 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 5 เป็นเงิน 1,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 5 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ทั้งนี้ให้กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติของจำเลยที่ 5 ไว้ด้วย โดยให้จำเลยที่ 5 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 5 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง