แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอน ขั้นแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว และจากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามขั้นตอนดังกล่าวส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปยึดทรัพย์เมื่อใดนั้นเป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เกินสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนแล้วภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว สำหรับประเด็นที่ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่นั้น ในวันนัดพร้อมตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16มิถุนายน 2526 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 4 แถลงร่วมกัน ว่า “กรณีนี้ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้ เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์กรณีพิพาทเมื่อวันที่17 มกราคม 2526 แต่เจ้าพนักงานได้ทำการยึดทรัพย์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2526 และคู่กรณีขอให้ศาลวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว” ศาลมีคำสั่งว่า “ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้นัดฟังคำสั่งกรณีนี้ ในวันที่ 27 มิถุนายน 2526 เวลา 10 นาฬิกา” แม้คำแถลงของจำเลย ที่ 2 และที่ 4 จะยังไม่ชัดแจ้งว่า จำเลยที่2 และที่ 4 ได้สละประเด็นดังกล่าว แต่คำสั่งศาลที่ว่าคดีพอวินิจฉัยได้ และนัดฟังคำสั่งเป็นการสั่งงดสืบพยาน อันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 จำเลยที่ 2และที่ 4 มีโอกาสโต้แย้งคำสั่งแต่ไม่ได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกา เพราะถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2516ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอก็ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้จนครบ
วันที่ 22 สิงหาคม 2516 โจทก์ยื่นคำขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำบังคับและนำยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดจ่ายให้โจทก์รับไปเป็นเงิน 265,390 บาท
ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2526 จำเลยที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่15 มีนาคม 2526 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์และบ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เพราะเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี นอกจากนั้น จำเลยที่ 3 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปบางส่วนแล้วเมื่อรวมกับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 แล้วจะไม่มีหนี้ที่โจทก์จะบังคับคดีได้อีก
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไป โจทก์ขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งอยู่ในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2และที่ 4
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 4
จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2516 และคำพิพากษาดังกล่าวเป็นที่สุด โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2516 เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดไปครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2526 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์และบ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 4เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2526 แล้ววินิจฉัยว่าการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอนขั้นแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแล้วและจากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามขั้นตอนดังกล่าว เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนแล้วภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา ส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปยึดทรัพย์เมื่อใดนั้นเป็นข้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เกินสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว
ในวันนัดพร้อมตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 มิถุนายน 2526 ศาลมีคำสั่งว่า “ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้นัดฟังคำสั่งกรณีนี้ (โจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่) ในวันที่ 27 มิถุนายน 2526 เวลา 10 นาฬิกา” แม้คำแถลงของจำเลยที่ 2 และที่ 4 จะยังไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้สละประเด็นดังกล่าว แต่คำสั่งศาลที่ว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำสั่งเป็นการสั่งงดสืบพยาน อันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 จำเลยที่ 2 และที่ 4 มีโอกาสโต้แย้งคำสั่งแต่ไม่ได้โต้แย้งไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกาเพราะถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน