แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยและเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” แต่ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.6 มีข้อตกลงว่า “บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ” ซึ่งแม้จะแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย และแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์และนั่งมาในรถยนต์ด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 2 ให้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัย จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.6 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์และทำละเมิดเอง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 160,162 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 155,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 155,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันฟ้อง แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกิน 5,162 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 155,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันฟ้อง แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกิน 5,162 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ธ – 1471 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 6270 เพชรบุรี จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยและเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 6270 เพชรบุรี ไว้จากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 155,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เห็นว่า แม้ ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” แต่ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.6 มีข้อตกลงว่า “บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง
” ซึ่งแม้จะแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย และแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย แต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยชนรถยนต์ของโจทก์โดยละเมิด เมื่อจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์และนั่งมาในรถยนต์ด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 2 ให้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัย จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.6 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์และทำละเมิดเอง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามสัญญาประกันภัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.