คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับลงลายมือชื่อไว้ในอุทธรณ์ว่าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นอุทธรณ์ หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง แต่จำเลยที่ 2 ไม่เสียภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 2 ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้น ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ภายในกำหนด 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2545 แต่จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ย่อมเป็นอันถึงที่สุด การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอวางเงิน ค่าขึ้นศาลเพิ่มเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 ซึ่งพ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดและสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แล้วก็ดี และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต จำเลยที่ 2 จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มพร้อมกับสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยอ้างเหตุว่ามิได้จงใจที่จะไม่เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มก็ดี ก็หามีผลลบล้างคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุดดังกล่าวแล้วไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ในครั้งหลังนี้ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเรื่องเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และขอให้สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงขอให้บังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน น.ส. 3 ก. ของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดและขายทอดตลาดที่ดิน น.ส. 3 ก. บางส่วนให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดิน น.ส. 3 ก. ให้แก่โจทก์นั้นในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง แต่จำเลยที่ 2 ไม่เสียค่าขึ้นศาลให้ครบในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2545…
วันที่ 25 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มและสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะไม่เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับลงลายมือชื่อไว้ในอุทธรณ์ว่าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นอุทธรณ์คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง จึงถือได้ว่าวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 จำเลยที่ 2 จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 แต่จำเลยที่ 2 ไม่เสียภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 2 ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้น ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ภายในกำหนด 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2545 แต่จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ย่อมเป็นอันถึงที่สุด การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอวางเงิน ค่าขึ้นศาลเพิ่มเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 ซึ่งพ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดและสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แล้วก็ดี และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต จำเลยที่ 2 จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มพร้อมกับสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยอ้างเหตุว่ามิได้จงใจที่จะไม่เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มก็ดี ก็หามีผลลบล้างคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุดดังกล่าวแล้วไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ในครั้งหลังนี้ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเรื่องเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และขอให้สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 อีก ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบและไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะฎีกา
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของจำเลยที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ.

Share