คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4602/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ยาทุกชนิดตามข้อ 3 (1) ของบัญชีอัตรากำไรมาตรฐานสินค้านำเข้า หมายถึงยาที่ใช้กับมนุษย์เท่านั้น สำหรับยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชสัตว์ตามข้อ 3 (4) หมายถึงยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชอย่างหนึ่งกับยาห้องกันกำจัดศัตรูและโรคสัตว์อีกอย่างหนึ่ง
สินค้าของโจทก์เป็นยารักษาโรคสัตว์ทั่วไป จึงเป็นยากำจัดโรคสัตว์ตามข้อ 3 (4) อัตรากำไรมาตรฐานกำหนดไว้ร้อยละ 11.5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งซื้อยารักษาโรคสัตว์ จำพวกสัตว์เกษตรจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรหลายคราว จำเลยที่ ๒ ได้เก็บภาษีการค้าโดยเอาอัตราภาษีการค้าสำหรับยาสัตว์ทั่วไปร้อยละ ๗ มาคำนวณ อันเป็นการไม่ถูกต้องโจทก์จะต้องเสียภาษีการค่าสำหรับยาสัตว์จำพวกสัตว์เกษตรร้อยยะ ๑.๕ เท่านั้น และเป็นเหตุให้การคำนวณภาษีบำรุงเทศบาลผิดไปด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ใช้อัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ ๒๑ มาคำนวณ ซึ่งตามกฎหมายอัตรากำไรมาตรฐานกำหนดไว้ร้อยละ ๑๑.๕ เป็นเหตุให้ค่าภาษีผิดไป ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าภาษีที่เรียกเก็บเกินไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๒ เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลถูกต้องแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ และโจทก์นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียภาษีอากรให้จำเลยที่ ๒ เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน ๒ ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงระงับไปก่อนฟ้อง ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๑๐ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๑๘,๘๓๐.๒๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์สั่งและนำเข้าสินค้ายารักษาโรคสัตว์ทั่วไปจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรรวม ๔๔ ใบชน จำเลยที่ ๒ เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแทนจำเลยที่ ๑ โดยคำนวณรายรับจากอัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ ๒๑ ปัญหาในชั้นนี้ มีว่าการที่จำเลยเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากโจทก์โดยคำนวณรายรับจากอัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ ๒๑ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. บวกอากรขาเข้านั้นขอบหรือไม่
ตามบัญชีอัตรากำไรมาตรฐานของสินค้านำเข้าท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า ( ฉบับที่ ๗) เรื่องให้ใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อกำหนดมูลค่าของสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักรเป็นรายรับหมด ๑ ประเภท ๑ ขนิด ๑(ก) (ข) และ (ค) นั้น สินค้าตามข้อ ๓ ยาและเคมีภัณฑ์ (๑) ระบุยาทุกชนิด รวมทั้งที่ใช้บำรุงหรือรักษาอนามัย ซึ่งแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้โดยตรงร้อยละ ๒๑ ส่วน (๔) ระบุ ปุ๋ยยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชสัตว์ร้อยละ ๑๑.๕ โจทก์อ้างว่า สินค้ารายพิพาทของโจทก์นั้นเป็นสินค้าตามข้อ ๓(๔) อัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ ๑๑.๕ แต่จำเลยโต้แย้งว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าตามข้อ ๓(๑) อัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ ๒๑ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยาทุกชนิดตามข้อ ๓ (๑) นั้นน่าจะหมายถึงยาที่ใช้กับมนุษย์เท่านั้น เพราะคำว่าอนามัยน่าจะหมายถึงอนามัยของมนุษย์ ส่วนคำว่าแพทย์ หรือประชาชนนำไปใช้ได้โดยตรงนั้นชี้ชัดยิ่งขึ้นว่าเป็นยาที่มนุษย์ใช้โดยตรง หากยาทุกชนิดหมายความรวมถึงยาที่ใช้กับสัตว์และพืชด้วยแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อ ๓ (๔) ให้ซ้ำซ้อนกัน สำหรับยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชสัตว์ตามข้อ ๓ (๔) นั้นหมายถึงยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคพืชอย่างหนึ่งกับยาป้องกันกำจัดศัตรูและโรคสัตว์อีกอย่างหนึ่ง สินค้าของโจทก์เป็นยารักษาโรคสัตว์ทั่วไปจึงเป็นยากำจัดโรคสัตว์ตามข้อ ๓ (๔) ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยในเรื่องอายุความนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความ จำเลยมิได้ยกปัยหานี้ขึ้นกล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องอายุความจึงไม่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหานี้จึงชอบแล้ว จำเลยอ้างปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นฎีกาอีกจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share