คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4809/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยใช้ราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2524 ของกรมที่ดินมาบังคับซึ่งราคาดังกล่าวมิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ในวันที่พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ฯพ.ศ. 2524 ใช้บังคับ เมื่อราคาที่จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนนั้นต่ำกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ พ.ร.ฎ. ดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่ชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จำนวน 3,816,731 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 2,921,600 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการปรองดองตามคำสั่งแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ โดยพิจารณาจากบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาด โดยใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งคณะกรรมการได้กำหนดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2524 เป็นราคาที่เป็นธรรมและเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ- แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้โจทก์จำนวน 875,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดว่าทนายความ 2,000 บาท แทนโจทก์ค่าขึ้นศาลคิดจากทุนทรัพย์ที่จำเลยต้องรับผิด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษตามที่พิพาทกันในคดีนี้ ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายนพุทธศักราช 2515 ข้อ 23 วรรคสุดท้าย กำหนดให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยทางหลวงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงไว้ในข้อ 76 ว่าเงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวิติ ฉบับที่ 295 คือพระราชบัญญัติเวนคืออสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯ พ.ศ. 2526 ไม่มีบทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับเงินค่าทดแทน แต่ปรากฏว่าได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 ใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2524 และจำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยใช้ราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2524 ของกรมที่ดินมาบังคับศาลฎีกาเห็นว่า ราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ- แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับเพราะได้ความว่าที่ดินของโจทก์รายนี้เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวคือแปลงโฉนดเลขที่ 6265 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7โจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2522 ราคา 8,490,000 บาทตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งขณะซื้อนั้น ที่ดินนี้ยังไม่ได้ถม พื้นดินเป็นหลุมเป็นบ่อนอยู่ติดกับถนนนางลิ้นจี่มีเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ 20 ตารางวา คิดเป็นราคาตารางวาละ 10,353.65บาท ต่อมาโจทก์ถมดินปรับพื้นที่แบ่งแยกโฉนดจัดสรรทำเป็นหมู่บ้านที่ดินของโจทก์จึงย่อมจะมีราคาสูงขึ้นทั้งแปลง มิใช่เฉพาะส่วนที่ดินถนนนางลิ้นจี่ อนึ่งจากวันที่โจทก์ซื้อที่ดินแปลงนี้ถึงวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวใช้บังคับ เป็นเวลาประมาณ 2 ปีกาลเวลาที่ผ่านไปย่อมเป็นเหตุให้ราคาซื้อขายตามธรรมดาของที่ดินสูงขึ้นได้ด้วย ฉะนั้นในวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวใช้บังคับที่ดินของโจทก์รายนี้ จึงน่าจะมีราคาสูงเกินกว่าตารางวาละ10,353.64 บาท การที่จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2524 โดยเนื้อที่บางส่วนของที่ดิน กำหนดค่าทดแทนให้เพียงตารางวาละ 1,800 บาทนั้น เห็นได้ว่าต่ำกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลางที่จะสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 ใช้บังคับ ที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็นต้องกันให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนในราคาตารางวาละ 10,500 บาทนั้นชอบด้วยรูปคดีแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share