คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทแปลงปลูกบ้านเป็นที่ดินมีโฉนด แม้บิดา จะได้ทำหนังสือนาซาร์ ซึ่งเป็นพินัยกรรมตามหลักศาสนาอิสลาม ยกที่ดินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ แต่มิได้จดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ การ ยกให้นี้จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 สำหรับที่พิพาทซึ่งเป็นที่นาเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ การให้ย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523 การที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือรับการยกให้และรับหนังสือนาซาร์เก็บรักษาไว้เอง ไม่ถือว่าเป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้และแม้โจทก์ได้รับการให้เมื่อปี 2508 ครอบครองทำนาอยู่2 ปี แล้วย้ายไปอยู่บ้านสามีเมื่อปี 2510 แต่ในปี 2522จำเลยยื่นแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ทางราชการได้ประกาศเรื่องราวที่จำเลยขอออก น.ส.3 ก. ตามระเบียบแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงออก น.ส.3 ก. ให้แก่จำเลยดังนี้การที่จำเลยได้นำที่นาไปออก น.ส.3 ก. ได้โดยโจทก์มิได้คัดค้านแสดงว่าแม้โจทก์จะเคยครอบครองที่นานี้มาก่อนโจทก์ก็ได้สละการครอบครองนั้นแล้ว ที่พิพาทซึ่งเป็นที่นาจึงเป็นของจำเลย โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามและอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น บิดามารดาโจทก์ได้ทำหนังสือนาซาร์ซึ่งเป็นพินัยกรรมตามหลักศาสนาอิสลามยกที่ดินให้แก่โจทก์จำเลยให้การต่อสู้ว่า หนังสือนาซาร์ที่โจทก์อ้างไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายอิสลาม เพราะผู้ทำไม่ได้เปล่งวาจากล่าว(ลาภาซ)แสดงเจตนาตามข้อความในหนังสือนาซาร์ หรือกล่าวลาภาซ ไม่ถูกต้อง ดังนี้ จึงมีปัญหาที่คู่ความโต้เถียงกันในปัญหาข้อกฎหมายว่าหนังสือนาซาร์ที่โจทก์อ้างนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอิสลามหรือไม่ เมื่อโจทก์จำเลยเป็นอิสลามมิกชนและมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานีการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลามดังกล่าวจึงต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489มาตรา 4 ศาลชั้นต้นจึงให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ และเมื่อดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายอิสลามเช่นนี้ ดะโต๊ะยุติธรรมจึงต้องลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย การลงชื่อของดะโต๊ะยุติธรรมจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของนายหะยีบือราเฮง ลือบาอูเด็ง และนางหะยีเจ๊ะมีเน๊าะหรือมีเน๊าะลือบาอูเด็ง เมื่อวันที่10 สิงหาคม 2508 นายหะยีบือราเฮงและนางหะยีเจ๊ะมีเน๊าะหรือมีเน๊าะได้ทำหนังสือนาซาร์ (พินัยกรรมตามหลักศาสนาอิสลาม)มีข้อความว่าเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเจ็บป่วยและก่อนตาย 2 วัน ให้ทรัพย์สินต่อไปนี้ตกเป็นของโจทก์คือที่ดินแปลงที่ 1 พร้อมบ้าน1 หลัง เลขที่ 69 หมู่ที่ 4 และที่ดินแปลงที่ 2 ซึ่งเป็นที่ดินนา เนื้อที่ 4 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านท่ายาลอ หมู่ที่ 4ต่อมาในปี 2510 โจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อำเภอบาเจาะจังหวัดนราธิวาส ก่อนย้ายภูมิลำเนาบิดาโจทก์ได้สั่งเสียแก่โจทก์ว่า หากบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมก่อนมารดาก็อย่าเพิ่งรับมรดกตามหนังสือนาซาร์ ให้มารดาโจทก์และจำเลยอยู่ในบ้านพิพาทดังกล่าวไปก่อน ส่วนที่นาพิพาทก็ให้มารดาและจำเลยเก็บกินก่อนจนกว่ามารดาจะถึงแก่กรรมแล้วจึงให้รับมรดกตามหนังสือนาซาร์ได้ โจทก์ได้แจ้งคำสั่งของบิดาโจทก์ให้แก่มารดาและจำเลยทราบแล้ว ต่อมาเมื่อประมาณปี 2520 บิดาโจทก์ถึงแก่กรรม หลังจากนั้นโจทก์ก็ได้ให้มารดาและจำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาทต่อไป ต่อมาเมื่อปี 2536 มารดาโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยและบริวารออกไปจากบ้านและที่พิพาทแปลงที่ 1 แต่จำเลยไม่ยอมออก โจทก์ทราบว่าจำเลยได้ให้มารดาเป็นผู้รับมรดกบ้านและที่พิพาทแล้วให้มารดาโอนต่อให้จำเลย ส่วนที่พิพาทแปลงที่ 2 ซึ่งเป็นที่นาจำเลยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นของจำเลย ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขอพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนทำลายนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 138 เนื้อที่ 2 ไร่ 93 5/10 ตารางวาและเพิกถอนทำลาย น.ส.3 ก. เลขที่ 883 เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน83 ตารางวา ภายใน 30 วัน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยและบริวารย้ายออกและขนย้ายสิ่งของสัมภาระออกจากบ้านเลขที่ 69หมู่ที่ 4 ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
จำเลยให้การว่า บิดาโจทก์และจำเลยหนังสือนาซาร์ที่โจทก์อ้างไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายอิสลาม เพราะผู้ทำไม่ได้เปล่งวาจากล่าว (ลาภาซ) แสดงเจตนาตามข้อตามข้อความในหนังสือนาซาร์หรือกล่าวลาภาซไม่ถูกต้อง บ้านเลขที่ 69 พร้อมที่พิพาทซึ่งมีชื่อบิดาโจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ความจริงแล้วเป็นของบิดาโจทก์เพียงบางส่วนเท่านั้น ที่เหลือเป็นของมารดา แต่ตอนไปออกโฉนดที่ดินมารดายอมให้ใส่ชื่อบิดาเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียวและบิดามารดาโจทก์ได้แสดงเจตนาทำหนังสือนาซาร์ยกส่วนของตนให้แก่จำเลยและบุคคลอื่น ๆ หมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2514 โดยบิดาโจทก์และจำเลยได้แสดงเจตนานาซาร์ยกบ้านเลขที่ 69 พร้อมที่ดิน เนื้อที่ 2 ไร่เศษ ให้แก่จำเลยที่เหลือยกให้แก่บุคคลอื่น ๆ ตามส่วนไปเรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์จำเลยเป็นพี่น้องกันและเป็นบุตรของนายบือราเฮง อุเด็งและนางมีเนาะ อุเด็ง บิดาโจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2520 มารดาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2536ที่พิพาทมี 2 แปลง แปลงแรกเป็นที่ดินปลูกบ้านมีโฉนดที่ดิน หลังจากบิดาถึงแก่กรรมแล้ว มารดารับโอนทางมรดกแล้วจัดแบ่งที่ดินให้แก่บุตรหลาน คงเหลือ 2 ไร่เศษ ยกให้แก่จำเลยตามโฉนดเลขที่ 138ที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่นา เดิมเป็นที่ดินมือเปล่า ต่อมาทางราชการออกเป็น น.ส.3 ก. มีชื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองตาม น.ส.3 ก.เอกสารหมาย ล.10 ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า ที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าที่พิพาทแปลงปลูกบ้านแม้บิดาจะได้ทำหนังสือนาซาร์ยกที่ดินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นที่ดินที่มีโฉนดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 บัญญัติว่าการให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้การให้ย่อมสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ ทางพิจารณาโจทก์นำสืบแต่เพียงว่าบิดาได้ทำหนังสือนาซาร์ยกให้เท่านั้น มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การยกที่ดินปลูกบ้านซึ่งมีโฉนดเช่นนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ ส่วนทางจำเลยได้ความว่า หลังจากบิดาถึงแก่กรรมแล้วมารดาไปขอรับโอนที่ดินทางมรดกเป็นของตน เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนให้แก่มารดาแล้ว มารดาจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปลงย่อมมีอำนาจจะยกที่ดินให้แก่ผู้ใดก็ได้ เมื่อมารดาได้จดทะเบียนยกที่ดินตามโฉนดนี้ให้แก่จำเลย การให้นี้จึงสมบูรณ์ ฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินปลูกบ้าน สำหรับที่พิพาทซึ่งเป็นที่นานั้น ที่ดินแปลงเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523 บัญญัติว่าการให้นั้นย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ โจทก์นำสืบว่า เมื่อมารดาทำหนังสือนาซาร์แล้ว โจทก์ได้พิมพ์ลายนิ้วมือรับการยกให้และรับหนังสือนาซาร์เก็บรักษาไว้ โจทก์ทำนาอยู่ 2 ปี จึงย้ายไปอยู่กับสามี จำเลยนำสืบว่า บิดามารดาได้ยกที่นาให้แก่จำเลยประมาณ 20 ปีแล้ว จำเลยทำนาอยู่ 10 ปี ให้ผู้อื่นเช่าอีก 10 ปีและนำที่ดินไปออก น.ส.3 ก. เห็นว่า ที่นานี้เป็นที่ดินมือเปล่าการที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือรับการยกให้และรับหนังสือนาซาร์เก็บรักษาไว้เอง ไม่ถือว่าเป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ ข้อที่โจทก์นำสืบว่าได้รับการให้เมื่อปี 2508 ครอบครองทำนาอยู่ 2 ปีแล้วย้ายไปอยู่บ้านสามีเมื่อปี 2510 นั้น ได้ความตาม น.ส.3 ก. เอกสารหมาย ล.10 ว่าเมื่อปี 2522 จำเลยยื่นแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ ทางราชการได้ประกาศเรื่องราวที่จำเลยขอออก น.ส.3 ก. ตามระเบียบแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงออก น.ส.3 ก. ให้แก่จำเลย ซึ่งโจทก์นำสืบรับว่าหลังจากจำเลยอ้างว่ามี น.ส.3 ก.แล้ว ได้ให้ทนายความไปตรวจสอบ ปรากฏว่าทางราชการได้ออก น.ส.3 ก. เป็นชื่อของจำเลยจริง จากการที่จำเลยได้นำที่นาไปออก น.ส.3 ก. ได้โดยโจทก์มิได้คัดค้านแสดงว่าแม้โจทก์จะเคยครอบครองที่นานี้มาก่อน โจทก์ก็ได้สละการครอบครองนั้นแล้วที่พิพาทซึ่งเป็นที่นาจึงเป็นของจำเลย เมื่อฟังได้ว่าที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นของจำเลย โจทก์จึงขอให้แก้ไขโฉนดแก้ไข น.ส.3 ก. และขับไล่จำเลยไม่ได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า ดะโต๊ะยุติธรรมร่วมกันวินิจฉัยและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามและอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นบิดามารดาโจทก์ได้ทำหนังสือนาซาร์ซึ่งเป็นพินัยกรรมตามหลักศาสนาอิสลามยกที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า หนังสือนาซาร์ที่โจทก์อ้างไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายอิสลาม เพราะผู้ทำไม่ได้เปล่งวาจากล่าว(ลาภาซ) แสดงเจตนาตามข้อความในหนังสือนาซาร์หรือกล่าวลาภาซไม่ถูกต้อง ดังนี้ จึงมีปัญหาที่คู่ความโต้เถียงกันในปัญหาข้อกฎหมายว่าหนังสือนาซาร์ที่โจทก์อ้างนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอิสลามหรือไม่ เมื่อโจทก์จำเลยเป็นอิสลามมิกชน และมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานีการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลามดังกล่าวจึงต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลพ.ศ. 2489 มาตรา 4 ศาลชั้นต้นจึงให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยว่าหนังสือนาซาร์ของโจทก์เป็นนาซาร์ที่มีเงื่อนไขและไม่เปล่งวาจากล่าว (ลาภาซ) ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้กล่าวปฏิบัติตามหนังสือนาซาร์ของโจทก์เป็นนาซาร์ที่ไม่สมบูรณ์ตามหลักศาสนาอิสลาม คดีโจทก์จึงไม่อาจนำกฎหมายอิสลามว่าด้วยมรดกมาใช้บังคับ และเมื่อดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายอิสลาม เช่นนี้ดะโต๊ะยุติธรรมจึงต้องลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยการลงชื่อของดะโต๊ะยุติธรรมจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share