คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาทั้งสามคดีว่าโจทก์เป็นผู้ทำคำแถลงถอนการยึดทรัพย์อันเป็นการปกปิดข้อความจริงทั้งที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำแถลงขอถอนการยึดทรัพย์ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาลและเสียค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์เองคำฟ้องโจทก์พอเข้าใจได้ว่าข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นเท็จอย่างไรความจริงเป็นอย่างไรแต่คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไรฉะนั้นฟ้องโจทก์จึงมิได้บรรยายถึงการกระทำหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 วันที่ 1 เมษายน2536 และวันที่ 21 เมษายน 2536 เวลากลางวัน จำเลยได้เบิกความเท็จในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2404/2536, 2259/2536 และ 2565/2538 ของศาลชั้นต้น เรื่อง ฉ้อโกงและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คว่า โจทก์หลอกลวงให้จำเลยถอนการยึดทรัพย์คดีดังกล่าว ซึ่งความจริงแล้วจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำแถลงขอถอนการยึดทรัพย์และลงลายมื่อชื่อเป็นผู้เรียกพิมพ์เองยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาล ตลอดจนเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์เองทั้งสิ้น ข้อความดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีนี้ ซึ่งหากศาลเชื่อในคำเบิกความของจำเลยก็อาจจะลงโทษโจทก์ได้ เหตุเกิดที่ตำบลมหาชัยอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177, 91 จำเลยกระทำผิดสามกระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือนรวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาทั้งสามคดีว่า โจทก์เป็นผู้ทำคำแถลงถอนการยึดทรัพย์อันเป็นการปกปิดข้อความจริง ทั้งที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำแถลงขอถอนการยึดทรัพย์ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาลและเสียค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์เอง คำฟ้องโจทก์พอเข้าใจได้ว่าข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นเท็จอย่างไร ความจริงเป็นอย่างไรแต่คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ฉะนั้นฟ้องโจทก์จึงมิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
พิพากษายืน

Share