คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรแต่ระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิด เฉพาะข้อหารับของโจรฟ้องโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม ศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ การที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จะต้องเป็นเรื่องที่คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายมาครบถ้วนถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(1) ถึง (7) เสียก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 เวลากลางวันมีคนร้ายลักเอาเครื่องเล่นวีดีโอ จำนวน 1 เครื่อง ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2533 เวลากลางวันเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายได้พร้อมด้วยเครื่องเล่นวีดีโอ 1 เครื่อง ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าว ทั้งนี้ตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น จำเลยเป็นคนร้ายลักเอาเครื่องเล่นวีดีโอของผู้เสียหายหรือมิฉะนั้น ระหว่างวันเวลาดังกล่าวข้างต้น ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2533 เวลากลางวันต่อเนื่องกันจำเลยได้ซื้อ รับเอาไว้ ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งเครื่องเล่นวีดีโอของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เหตุรับของโจรเกิดที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,337 และให้คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคสอง ให้จำคุก 3 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี คืนของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคำฟ้องของโจทก์ ในข้อหาลักทรัพย์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หรือไม่เห็นว่า หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบรรยายฟ้องตามมาตรา 158(5) นั้น นอกจากโจทก์จะต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดแล้ว โจทก์ยังจะต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามคำฟ้องคดีนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่ระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดเฉพาะข้อหารับของโจรเท่านั้น สำหรับข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์หาได้บรรยายถึงสถานที่เกิดเหตุไม่ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ณ สถานที่แห่งใด อันจะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และสามารถต่อสู้คดีของโจทก์ได้อย่างถูกต้องฟ้องโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ที่โจทก์ฎีกาว่าแม้โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเพียงความผิดฐานรับของโจรหากทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็ปรับบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องตามมาตรา 158การที่ศาลจะมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 192 ได้นั้นจะต้องเป็นเรื่องที่คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายมาถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 158(1)-(7) เสียก่อน ดังนั้น ในกรณีที่ฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องตามมาตรา 158 ศาลย่อมไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตามมาตรา 192 ได้
พิพากษายืน

Share