คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4806/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ส่วนจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่อย่างใดการที่ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่มีหนังสือถึงโจทก์ก็เป็นการกระทำในฐานะปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยแยกต่างหากจากการสั่งในฐานะเป็นผู้กระทำแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งของจำเลย ดังนั้นจำเลยจึงมิได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่ประการใดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยโดยสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ได้มีหนังสือถึงโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ทำการดัดแปลงอาคารเลขที่ 173/47 โดยมิได้รับอนุญาตให้โจทก์แก้ไขและยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารและแจ้งให้โจทก์ระงับการดัดแปลงอาคารดังกล่าว โจทก์เห็นว่าคำสั่งตามหนังสือทั้งสองฉบับขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535มาตรา 40 ทั้งโจทก์ก็มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อาคารเลขที่ 173/47 ตั้งอยู่โจทก์เป็นเพียงผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 173/47 แต่มิได้อาศัยอยู่ โจทก์มิได้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขดัดแปลงอาคารดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น(สำนักงานเขตบางกอกใหญ่) ของจำเลยด้วย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามความหมายของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์เป็นผู้ครอบครองและเป็นผู้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารนี้ คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขและระงับการดัดแปลงอาคารกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2539 ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีหนังสือที่ กท 9015/5602และ กท 9015/5603 กล่าวหาว่า โจทก์ดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับอนุญาตและสั่งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง กับให้โจทก์ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารและให้ระงับการดัดแปลงอาคาร โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วยกอุทธรณ์ของโจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์ฎีกาว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 รวมทั้งผู้ที่ทำการแทนเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลย จำเลยย่อมมีอำนาจในการออกคำสั่งอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่อยู่ในอำนาจควบคุมดูแลและบังคับบัญชาของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ควบคุมดูแลและบังคับบัญชาเจ้าพนักงานท้องถิ่นและผู้ทำการแทนให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้ถูกต้องและเป็นธรรมคำสั่งของผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ที่ออกภายใต้อำนาจควบคุมดูแลของจำเลย จำเลยจึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ใด ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 4บัญญัติว่า “ในพระราชบัญญัตินี้ “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายความว่า(4) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร” ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ส่วนจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น และที่ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่มีหนังสือที่ กท 9015/5602 และที่ กท 9015/5603 ถึงโจทก์ก็เป็นการกระทำในฐานะปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยแยกต่างหากจากการสั่งในฐานะเป็นผู้กระทำแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งของจำเลย จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share