คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวไว้ในคำแก้ฎีกาว่า การเช่าที่ดินที่จำเลยอ้างว่าให้โจทก์เช่าจำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องปัญหาข้อนี้โจทก์ได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วจำเลยก็อุทธรณ์ถึงเรื่องค่าเช่าที่ค้างชำระด้วย แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ก็ถือว่าปัญหาข้อนี้ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว โจทก์ย่อมอ้างอิงปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกาได้ เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยระบุชัดว่า การเช่าที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้บังคับคดีเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระจากโจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 538 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2509 จำเลยขายที่ดินตาม น.ส.3 แก่โจทก์ราคา 10,300 บาท โดยตกลงด้วยวาจามิได้ทำเป็นหนังสือ โจทก์วางเงินมัดจำ 3,000 บาท จำเลยมอบสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทำกินแล้ว ส่วนราคาที่ดินที่เหลือจำเลยยอมให้โจทก์ผ่อนชำระจนกว่าจะครบถ้วน แล้วจะดำเนินการจดทะเบียนโอนภายหลัง โดยโจทก์จะต้องเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนเองเพราะที่ดินดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่าทำประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ โจทก์เก็บผลประโยชน์ได้เท่าใดแล้วให้ชำระราคาที่ดินแก่จำเลย ต่อมา พ.ศ. 2513 โจทก์ชำระราคาที่ดินแก่จำเลย 3,000 บาทพ.ศ. 2518 ชำระ 1,300 บาท และ พ.ศ. 2527 โจทก์ชำระงวดสุดท้ายอีก3,000 บาท โจทก์ขอให้จำเลยโอนทางทะเบียนให้โจทก์ แต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ขอให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ หากจำเลยไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยกับขอให้แสดงว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์เพียงผู้เดียว หากการดำเนินการดังกล่าวขัดข้อง ให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดินในขณะฟ้องจำนวน 44,625 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อ พ.ศ. 2509 จำเลยได้ตกลงให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาทเพื่อทำนามีกำหนด 5 ปี คิดค่าเช่าปีละ 1,000บาท โดยไม่ได้ทำหนังสือแต่อย่างใด โจทก์ได้มอบค่าเช่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในวันที่ตกลงจำนวน 3,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 2,000 บาทให้โจทก์ชำระในแต่ละปี ปีละ 1,000 บาท ใน พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นปีที่ 4 โจทก์ไม่ได้ชำระค่าเช่า ใน พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในการเช่า โจทก์ได้นำเงินค่าเช่าที่เหลืออีก 2,000 บาท มามอบให้จำเลยและขอเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก จำเลยยินยอมให้โจทก์เช่าโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา และไม่ได้ทำหนังสือไว้แต่ขอเพิ่มค่าเช่าเป็นปีละ2,000 บาท และขอให้จำเลยชำระค่าเช่าบางส่วน โจทก์ตกลงและชำระค่าเช่าล่วงหน้า 1,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ค้างชำระค่าเช่าเรื่อยมา จนถึงพ.ศ. 2518 โจทก์นำเงินค่าเช่ามาชำระให้จำเลยจำนวน 1,300 บาท และพ.ศ. 2527 โจทก์นำเงินค่าเช่ามาชำระให้จำเลยอีก 3,000 บาท ในการเช่าที่ดินพิพาทครั้งหลัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2528 เป็นระยะเวลา 15 ปี รวมค่าเช่าทั้งสิ้น 30,000 บาท โจทก์ให้ค่าเช่าจำเลยเพียง 5,300 บาท ยังคงค้างอีก 24,700 บาท โจทก์เป็นผู้เช่าทำนาจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน 24,700 บาทแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยตกลงเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลยการเช่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือจะนำมาฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิในการเรียกร้องค่าเช่า ค่าเช่าตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2528 ขาดอายุความเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยหากขัดข้องก็ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 44,625 บาทแก่โจทก์แทน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก็ยังค้างชำระค่าเช่าที่ดินพิพาทเป็นเงิน 24,700 บาทนั้น โจทก์กล่าวไว้ในคำแก้ฎีกาว่า การเช่าที่จำเลยอ้างว่าให้โจทก์เช่า จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้โจทก์ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว จำเลยก็อุทธรณ์ถึงเรื่องค่าเช่าที่ค้างชำระด้วย แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ก็ถือว่าปัญหาข้อนี้ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว โจทก์ย่อมอ้างอิงปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกาได้ เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยระบุชัดว่าการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้บังคับคดีเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระจากโจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตรา 538 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยได้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2509 และโจทก์ได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว แต่มิได้พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไขให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยและให้ยกฟ้องโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share