คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4788/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยทั้งสามไม่จัดทำบัญชีงบดุลและเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติภายในกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1196, 1197 ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 18, 25 แต่ได้ความว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเชิญพิจารณารับรองงบดุล – งบการเงินแล้วแจ้งเหตุขัดข้องปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมกรรมการ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่สามารถจัดทำบัญชีงบดุลและเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติตามที่กฎหมายกำหนดได้ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นจึงมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดการกระทำความผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 18, 25
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการโดยโจทก์ที่ 1 หรือโจทก์ที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 รวมเป็นสองคน และประทับตราสำคัญของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ดำเนินการจัดทำบัญชีงบดุล – งบการเงินปี 2552 โดยมีหนังสือเชิญโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 พิจารณารับรองงบดุล – งบการเงินปี 2552 แต่โจทก์ทั้งสองแจ้งเหตุขัดข้องปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1196 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อันบัญชีงบดุลนั้น ท่านว่าต้องทำอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือน คือ เมื่อเวลาสุดรอบสิบสองเดือนอันจัดว่า เป็นขวบปีในทางบัญชีเงินของบริษัทนั้น” มาตรา 1197 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “งบดุลนั้นต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคนตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ภายในสี่เดือนนับแต่วันที่ลงในงบดุลนั้น” วรรคสอง บัญญัติว่า “อนึ่ง ให้ส่งสำเนางบดุลไปยังบุคคลทุกคนบรรดาที่มีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทแต่ก่อนวันนัดประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน” มาตรา 1198 บัญญัติว่า “ในเมื่อเสนองบดุล กรรมการต้องเสนอรายงานต่อที่ประชุมใหญ่แสดงว่าภายในรอบปีซึ่งพิจารณากันอยู่นั้นการงานของบริษัทได้จัดทำเป็นประการใด” และมาตรา 1199 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนางบดุลทุกฉบับไปยังนายทะเบียนไม่ช้ากว่าเดือนหนึ่งนับแต่วันซึ่งงบดุลนั้นได้รับอนุมัติในที่ประชุมใหญ่” จากบทบัญญัติดังกล่าวกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ร่วมกันจัดทำงบดุลตามที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติโดยต้องส่งสำเนางบดุลไปยังผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าสามสิบวันและยังมีหน้าที่ร่วมกันเสนอรายงานต่อที่ประชุมใหญ่และส่งสำเนางบดุลทุกฉบับไปยังนายทะเบียนไม่ช้ากว่าเดือนหนึ่งนับแต่วันซึ่งงบดุลนั้นได้รับอนุมัติในที่ประชุมใหญ่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ดำเนินการจัดทำบัญชีงบดุล – งบการเงินปี 2552 โดยมีหนังสือเชิญโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 พิจารณารับรองงบดุล – งบการเงินปี 2552 แล้ว แต่โจทก์ทั้งสองแจ้งเหตุขัดข้องปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมกรรมการ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สามารถจัดทำงบดุลเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติและส่งสำเนางบดุลให้แก่ผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นจึงมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดการกระทำความผิดตามฟ้องด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share