คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4787/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นบุตรของจำเลยและอยู่ในที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาแล้วว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารกรณีจึงถือได้ว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยแม้ผู้ร้องจะเป็นบุตรมิชอบด้วยกฎหมาย ของจำเลยก็หาทำให้ผู้ร้องมิได้เป็นบริวารของจำเลยแต่อย่างใด ส่วนข้อที่ผู้ร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่นำมาลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งมีผู้ร้องเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้ทรัพย์พิพาทเป็นของห้างหุ้นส่วนนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีข้ออ้างตามกฎหมายประการใดที่จะอ้างความเป็นหุ้นส่วนนั้น ขึ้นยันโจทก์ได้ และที่ผู้ร้องอ้างว่ายังมีคดีอีก 2 คดีที่พิพาทกันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินคดีนี้และคดียังไม่ถึงที่สุดนั้น แม้ผู้ร้องจะเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ผู้ร้องสอดซึ่งมรณะ แต่ผู้ร้องก็หามีสิทธิอย่างอื่นนอกเหนือไปกว่า สิทธิของผู้ร้องสอดก่อนมรณะไม่ซึ่งคดี 2 คดีนั้นก็ปรากฏว่าผู้ร้อง มิได้เป็นคู่ความโดยตรง และประเด็นข้อพิพาทต่างกับประเด็น ที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้ ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าว ถือได้ว่าผู้ร้อง เป็นบริวารของจำเลยที่ไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ฉะนั้น คำพิพากษาคดีนี้จึงบังคับถึงผู้ร้องด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1)

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และให้ชำระค่าเช่าที่ค้างพร้อมทั้งค่าเสียหายผู้ร้องไม่ยอมออกไป ศาลชั้นต้นจึงหมายเรียกผู้ร้องมาสอบถามตามคำขอของโจทก์
ผู้ร้องอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลย และว่าที่ดินพิพาทผู้ร้องสอดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยอยู่คดีหนึ่ง และอีกคดีหนึ่งผู้ร้องสอดฟ้องทั้งโจทก์และจำเลย คดีทั้งสองเรื่องยังไม่ถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องออกไปจากทรัพย์พิพาทภายในกำหนด 1 เดือน
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในชั้นนี้มีเพียงว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ และหากเป็นบริวารของจำเลย ผู้ร้องสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุตรของจำเลยและอยู่ในที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาแล้วว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยและบริวาร กรณีจึงถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย แม้ผู้ร้องจะเป็นบุตรมิชอบด้วยกฎหมายของจำเลยดังที่ผู้ร้องฎีกาก็หาทำให้ผู้ร้องมิได้เป็นบริวารของจำเลยแต่อย่างใด ส่วนข้อที่ผู้ร้องแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นนนั้น ผู้ร้องอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยโดยมีสัญญาก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด พิเศษภักดี หนังสือรับรองและใบสำคัญการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดมาแสดงเป็นหลักฐานว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 3843, 3844 เป็นทรัพย์สินที่นำมาลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดพิเศษภักดีซึ่งมีผู้ร้องเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนั้นก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้ทรัพย์พิพาทเป็นของห้างหุ้นส่วนนั้น ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีข้ออ้างตามกฎหมายประการใดที่จะอ้างความเป็นหุ้นส่วนนั้นขึ้นยันโจทก์ได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ายังมีคดีอีก 2 คดีที่พิพาทกันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินคดีนี้และคดียังไม่ถึงที่สุดนั้น แม้ผู้ร้องจะเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องสอดซึ่งมรณะ แต่ผู้ร้องก็หามีสิทธิอย่างอื่นนอกเหนือไปกว่าสิทธิของผู้ร้องสอดก่อนมรณะไม่ ซึ่งคดี 2 คดีนี้ก็ปรากฏว่าผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความโดยตรง และประเด็นข้อพิพาทต่างกับประเด็นที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยที่ไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ ฉะนั้น คำพิพากษาคดีนี้จึงบังคับถึงผู้ร้องด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share