แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับสามีฝ่ายหนึ่งและโจทก์กับภริยาอีกฝ่ายหนึ่งได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่กันและได้บรรยายถึงรายละเอียดของที่ดินแปลงที่จำเลยจะต้องจดทะเบียนโอน ให้แก่โจทก์ไว้ด้วย แล้วบรรยายต่อไปว่าหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์และได้บรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเมื่อจำเลยผิดสัญญาไว้ด้วยและตอนท้ายก็มีคำขอบังคับ คำฟ้องที่โจทก์บรรยายมาจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดว่าคู่สัญญาจะไปจดทะเบียนโอนกันภายในกี่วันและไม่ได้บรรยายถึงสาระสำคัญของสัญญาให้ครบถ้วนนั้นข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา แม้โจทก์จะมิได้สำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความมาท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม สัญญาประนีประนอมยอมความให้สิทธิโจทก์ที่จะเรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับด้วย อันเป็นเบี้ยปรับซึ่งผู้เป็นลูกหนี้สัญญาจะให้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381ซึ่งนอกจากจะเรียกให้โอนที่ดินเป็นการชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาจากลูกหนี้ได้อีกด้วย มิใช่เบี้ยปรับตามมาตรา 380 ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้หรือเรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับสามีจำเลยฝ่ายหนึ่งและโจทก์กับภริยาโจทก์อีกฝ่ายหนึ่ง ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สาระสำคัญในสัญญาระบุว่าที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 374/66 และเลขที่ 433/183 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้ง 2 แปลง จำเลยตกลงโอนให้เป็นสิทธิแก่โจทก์ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาทตามสัญญา โจทก์ต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นเงิน 5,020 บาท เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอนให้โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมในส่วนที่เพิ่มขึ้นโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนโอนที่ดินตามน.ส.3 เลขที่ 374/66 และเลขที่ 433/183 ให้โจทก์หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นเงิน 200,000 บาทและชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง2 แปลง ในส่วนที่เกินจากเงิน 5,020 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เนื่องจากที่ดินทั้ง 2 แปลงจะต้องมีประกาศมีกำหนด 30 วัน ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2497 ข้อ 5 จำเลยจึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ทันตามกำหนดเวลาในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งระบุระยะเวลาไว้ไม่ถึง 30 วัน จำเลยจึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าปรับ 200,000 บาทและค่าฤชาธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนให้โจทก์สัญญาประนีประนอมยอมความข้อนี้จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า ถ้าเจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระเบี้ยปรับแล้วเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ แต่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยปฏิบัติการทั้งให้ชำระหนี้และชำระค่าปรับคำฟ้องของโจทก์จึงไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 374/66 และเลขที่ 433/183 ให้โจทก์หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้ชำระเงิน 5,000 บาทแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับสามีฝ่ายหนึ่งและโจทก์กับภริยาอีกฝ่ายหนึ่งได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่กันและได้บรรยายถึงรายละเอียดของที่ดินแปลงที่จำเลยจะต้องจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ไว้ด้วยแล้วบรรยายต่อไปว่าหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์และจำเลยได้ไปยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ณสำนักงานที่ดินพร้อมกับระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่จะโอนให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์และได้บรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเมื่อจำเลยผิดสัญญาไว้ด้วยและตอนท้ายก็มีคำขอบังคับ เห็นว่า คำฟ้องที่โจทก์บรรยายมาได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้วที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดว่าคู่สัญญาจะไปจดทะเบียนโอนกันภายในกี่วันและไม่ได้บรรยายถึงสาระสำคัญของสัญญาให้ครบถ้วนนั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาแม้โจทก์จะมิได้สำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความมาท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม
ส่วนฎีกาข้อสุดท้ายจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ และชำระเบี้ยปรับด้วยเป็นการไม่ชอบเพราะตามกฎหมายเมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับแล้วโจทก์ก็หมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้อีกต่อไปนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้”สำหรับคดีนี้ได้กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 ให้สิทธิโจทก์ที่จะเรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับอีกด้วย อันเป็นเบี้ยปรับซึ่งผู้เป็นลูกหนี้สัญญาจะให้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381ดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเรียกให้โอนที่ดินเป็นการชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาจากลูกหนี้ได้อีกด้วย มิใช่เบี้ยปรับตามมาตรา 380 ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้หรือ เรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน