คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้รื้อถอน จำเลยที่ 2 เพิกเฉย ต่อมาจำเลยที่ 1 รับโอนอาคารพิพาทมา แม้จำเลยที่ 1 จะไม่รู้เห็นในการต่อเติมอาคารดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีคำสั่งแจ้งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรื้อถอน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารพิพาทได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสั่งให้รื้อถอน และตลอดจนร้องขอต่อศาลเพื่อบังคับการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทห้องเลขที่ 596/11 ซอยพระพิศาล ถนนท่าดินแดง แขวงคลองสานเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โดยซื้ออาคารและที่ดินที่ตั้งอาคารมาจากจำเลยที่ 2 กับพวก จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารพิพาทมีที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมหลังอาคารกว้างระหว่าง 3 เมตรถึง 4.50เมตร วันที่ 5 พฤศจิกายน 2522 เจ้าหน้าที่ของโจทก์พบว่าจำเลยที่ 2ได้ทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตโดยสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น สูง 8 เมตร กว้าง 3 เมตรยาว 3 เมตร เชื่อมต่อจากความยาวของอาคารเดิมยื่นออกไปเป็นเหตุให้มีที่ว่างหลังอาคารกว้างไม่ถึง 2 เมตร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 76(4)อันเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงและออกใบอนุญาตให้ได้โจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 หยุดทำการก่อสร้างอาคารและรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบแปลน จำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามวันที่ 6 มีนาคม 2523 จำเลยที่ 1 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทจากจำเลยที่ 2 โจทก์แจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนภายใน 45 วันจำเลยที่ 1 เพิกเฉยและมิได้อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารตามกฎหมายขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอาคารส่วนดัดแปลงต่อเติมผิดแบบแปลน กว้าง 4 เมตร สูง 11 เมตร ยาว 3 เมตร ที่ไม่ได้รับอนุญาตออกจากอาคารพิพาท หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นการให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นทำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมผิดแบบแปลนกว้าง 4 เมตร สูง 11 เมตรยาว 3 เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกจากอาคารพิพาทหากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2522 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจพบการปลูกสร้างอาคารพิพาทโดยมีการต่อเติมอาคารปิดทางเดินหลัง กว้าง 4 เมตร ยาว 3เมตร สูง 11 เมตร ไม่ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1เป็นผู้ทำการก่อสร้างเจ้าหน้าที่ของโจทก์บอหใ้จำเลยที่ 2ระงับการก่อสร้าง และนายชัยโรจน์ โตมานะ ผู้ช่วยผู้อำนายการเขตคลองสานมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ให้ทำการรื้อถอนส่วนที่ต่อเติม จำเลยที่ 2ไม่ทำการรื้อถอนโจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ฐานปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแขวงธนบุรีพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8,400 บาท ปัจจุบันจำเลยที่ 1ครอบครองอาคารพิพาทและยังไม่มีการรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ต่อเติม
ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 2 ในการที่จำเลยที่ 2 ต่อเติมอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 รับโอนอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้นเห็นว่า ปัจจุบันอาคารพิพาทส่วนที่ต่อเติมผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตปรากฏว่ายังมิได้ทำการรื้อถอน ความผิดดังกล่าวคงมีอยู่ตลอดไปจนกว่าจะทำการรื้อถอนเสร็จ ประกอบกับเจ้าพนักงานของโจทก์ได้แจ้งคำสั่งแก่จำเลยที่ 1 ให้รื้อถอนส่วนที่ต่อเติมผิดแบบแปลนนั้นตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็นในการต่อเติมอาคารดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเจ้าของอาคารพิพาท โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้รื้อถอนอาคารพิพาทได้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคสาม หาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share