แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ให้การตอนแรกว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เงินหรือได้รับเงินจากบริษัท พ. ที่ขายสินทรัพย์ให้โจทก์แต่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินโดยไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และบริษัท พ. กรอกข้อความและจำนวนเงินเองโดยจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอม อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอม แม้จำเลยที่ 1 ให้การตอนหลังว่า สัญญากู้เงินตามฟ้องไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา จึงขาดอายุความ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นตัดฟ้องโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินจากบริษัท พ. อันจะถือได้ว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่อาจเป็นไปได้ในคราวเดียวกัน จึงไม่ขัดแย้งกันเองและเป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และคดีย่อมมีประเด็นที่โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 เพื่อให้เห็นว่าอายุความสะดุดหยุดลงตามเอกสารที่โจทก์นำมาแสดง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้ได้ว่า เอกสารที่โจทก์นำสืบเป็นเอกสารเกี่ยวกับการชำระหนี้รายอื่น มิใช่ว่าจะต้องรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุนรวมโจทก์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) จำนวน 400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเพียงบางส่วน โดยชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 และยังเป็นหนี้ต้นเงิน 222,635.30 บาท กับดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 โจทก์เป็นผู้ซื้อและรับโอนสินทรัพย์สินเชื่อพาณิชย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) รวมถึงสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองมาจากการขายขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน โจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องพร้อมกับทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระหนี้ต้นเงิน 222,635.30 บาท กับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามสัญญาเดิมและโจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นเงิน 149,857.98 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 372,493.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของเงินต้น 222,635.30 บาท นับถัดจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) แต่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินท้ายฟ้องโดยมิได้กรอกข้อความใด ๆ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) กรอกข้อความและจำนวนเงินโดยจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอม สัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงิน และไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 เป็นความเท็จ สัญญากู้เงินท้ายฟ้องไม่มีกำหนดเวลาชำระต้นเงินคืน อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2532 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โจทก์ฟ้องคดีนี้พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบการโอนสิทธิเรียกร้องการรับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้สูงถึง 400,000 บาท สัญญากู้เงินไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ทันที โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เดิมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) จำนวน 400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี แต่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้แน่นอน และมีข้อตกลงให้บริษัทผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้ในเวลาตามแต่จะเห็นสมควร ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาโจทก์ซื้อและรับโอนสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาจากการขายขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน และได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำให้การแก้คดีของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันเองเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิสืบพยานในประเด็นที่เกี่ยวกับอายุความหรือไม่ เห็นว่า คำให้การที่ขัดแย้งกันเองจะต้องเป็นคำให้การที่ยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางและไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางใดทางหนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การตอนแรกว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำทำสัญญากู้เงินหรือได้รับเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) แต่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินโดยไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) กรอกข้อความและจำนวนเงินเองโดยจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอม อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอม แม้จำเลยที่ 1 ให้การตอนหลังว่า สัญญากู้เงินตามฟ้องไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา คดีโจทก์จึงขาดอายุความก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นเป็นข้อตัดฟ้องโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) อันจะถือได้ว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ในคราวเดียวกัน คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขัดแย้งกันเองและเป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และคดีย่อมมีประเด็นที่โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 เพื่อให้เห็นว่าอายุความสะดุดหยุดลงตามเอกสารที่โจทก์นำมาแสดง จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้ได้ว่าเอกสารที่โจทก์นำสืบเป็นเอกสารเกี่ยวกับการชำระหนี้รายอื่นไม่เกี่ยวสัญญากู้เงิน หาใช่ว่าจะต้องรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ