คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 มาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว เมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตรา 1349 ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ แต่การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นได้เพราะเขายินยอม มิใช่เป็นสิทธิตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา 1349
โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านทางที่ดินของบุคคลอื่นที่มิได้หวงห้ามโจทก์ การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเดือดร้อนและเสียหาย และถ้าหากให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก อันจะทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ 1 แปลง และที่ดินตามหนังสือรับรองการประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 64/33 เนื้อที่ 2 งาน 50 ตารางวา ที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดกันโจทก์ปลูกบ้านเลขที่ 30 บนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออก ที่ดินทั้งสองแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่เจ้าของเดิมใช้เส้นทางผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 17884 ของจำเลยที่ 1 และโฉนดเลขที่ 25421 ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กว้างประมาณ 2 เมตร โจทก์ใช้เส้นทางดังกล่าวติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2541 จำเลยทั้งสามร่วมกันนำสังกะสีมาปิดกั้นทางเข้าออกทำให้โจทก์และบริวารไม่สามารถใช้เส้นทางเข้าออกได้ตามปกติ ขอให้พิพากษาว่าทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์กว้าง 2 เมตร ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 17884 และ 25421 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนแผ่นรั้วสังกะสีเฉพาะส่วนที่สร้างปิดทางกว้าง 2 เมตร ออกไป โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะหลายทาง ไม่มีผู้ใดใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสาม ที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 33 ของนายเสงี่ยมโจทก์ชอบที่จะออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินของนายเสงี่ยม โจทก์ไม่ได้ใช้ทางพิพาทเป็นเวลากว่า 10 ปี การที่โจทก์ฟ้องขอผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสามทั้ง ๆ ที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว จึงเป็นประโยชน์ของโจทก์แต่ผู้เดียว และทำให้จำเลยทั้งสามเสียหาย เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 เปิดทางให้โจทก์ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 17884 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ของจำเลยที่ 1 เป็นทางกว้างเท่าความกว้างของที่ดินจำเลยที่ 1 ด้านทิศตะวันออกตอนล่าง จากแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ทางทิศใต้ได้ไปจนจดทิศเหนือเพื่อเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 64/33 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 64/33 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี โดยซื้อมาจากนายเสงี่ยมตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เอกสารหมาย จ.1 ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวแบ่งแยกมาจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 33 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 17884 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แบ่งขายที่ดินทางด้านทิศใต้ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ที่ดินของจำเลยทั้งสามอยู่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.6 ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์เคยใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยที่ 1 ออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้สังกะสีปิดกั้นทางพิพาท ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะได้ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ที่ดินของโจทก์เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 หรือ 1350 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่ดินของนายเสงี่ยมแม้จะไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายเสงี่ยมก็ใช้เส้นทางออกทางที่ดินของนายสำราญไปสู่ทางสาธารณะได้และได้ใช้เส้นทางดังกล่าวมาเป็นเวลากว่าสิบปี เมื่อเจ้าของที่ดินแปลงเดิมสามารถใช้เส้นทางของนายสำราญออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ซึ่งซื้อที่ดินมาจากนายเสงี่ยมจึงต้องใช้ทางดังกล่าวผ่านที่ดินของนายเสงี่ยมและที่ดินของนายสำราญออกสู่ทางสาธารณะได้เช่นกัน กรณีนี้จึงสามารถนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 มาปรับใช้ได้และเป็นการใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โจทก์จึงไม่จำเป็นที่จะต้องขอทางออกผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสาม นอกจากนายเสงี่ยมจะออกผ่านที่ดินของนายสำราญได้แล้วยังสามารถออกผ่านที่ดินของนางดอกไม้ได้ด้วย โจทก์จึงขอผ่านทางออกดังกล่าวได้ และไม่ทำให้บุคคลอื่นต้องเดือดร้อน เพราะเจ้าของที่ดินไม่ว่านายสำราญหรือนางดอกไม้ ก็ไม่ได้ปิดกั้นหรือหวงห้ามไม่ให้นายเสงี่ยมหรือโจทก์เดินเข้าออกแต่อย่างใด กรณีจึงเข้ามาตรา 1350 เพราะเมื่อที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินของนายเสงี่ยมและไม่มีทางออก โจทก์จึงต้องขอออกผ่านที่ดินที่ได้แบ่งแยกมาเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ กรณีนี้จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 มาปรับใช้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 บัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” การที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว ครั้นเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตรา 1349 ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าเดิมที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 64/33 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 33 ซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ ดังนั้น การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นได้เพราะเขายินยอม มิใช่เป็นสิทธิตามกฎหมาย ต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ กรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ตามมาตรา 1349 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์และนายศรีไพรสามีโจทก์ เบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่าก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินจากนายเสงี่ยมเจ้าของที่ดินคนก่อนและชาวบ้านได้ใช้ทางพิพาทเดินออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 ไม่เคยคัดค้านการใช้ทางพิพาท โจทก์ใช้รถเข็นเข้าออกทางพิพาทเพื่อนำของไปขาย จำเลยที่ 1 ไม่เคยคัดค้าน จำเลยที่ 1 ได้ปิดทางพิพาทเพื่อไม่ให้โจทก์เดินเข้าออกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่นายเสงี่ยมพยานโจทก์กลับเบิกความเจือสมกับพยานจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ สามีโจทก์ บุตรโจทก์ และญาติโจทก์สามารถเดินออกสู่ทางสาธารณะได้โดยผ่านที่ดินของนางดอกไม้หรือที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ทั้งสองทาง โจทก์ทราบก่อนซื้อที่ดินจากพยานว่าทางออกสู่ทางสาธารณะมี 2 ทาง และนายเสงี่ยมได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า เดิมสภาพที่ดินของจำเลยทั้งสามกับที่ดินที่พยานขายให้โจทก์จะมีแนวกอไผ่กั้นยาวตลอด รถไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ พยานเพิ่งจะไถกอไผ่ออกไปก่อนขายให้โจทก์ไม่ถึง 1 ปี นอกจากออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของนางดอกไม้ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้แล้วยังสามารถเดินออกผ่านที่ดินของนางประหยัดซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของที่ดินจำเลยที่ 1 ได้อีกทางหนึ่งฝ่ายจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ปี 2535 โจทก์เดินออกถนนสายหนองปลาหมอ – หินกอง โดยผ่านที่ดินของนายเสงี่ยมและนายสำราญ ส่วนทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์สามารถเดินออกได้โดยผ่านที่ดินของนางประหยัด นางเอก นางมิตร นางมา นางบุญ นางคลึ้ม นางเล็กและนายทองดี ปี 2536 เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินจากนายเสงี่ยม โจทก์สามารถเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของนายเสงี่ยมได้ เพราะนายเสงี่ยมยินยอม จากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 จะเห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทาง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติเรื่องการขอเปิดทางจำเป็นไว้ว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จะขอผ่านที่ดินแปลงใดก็ได้ แต่ให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ จากข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบมาปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางคือ ทางแรกโจทก์สามารถผ่านที่ดินของนายเสงี่ยมผู้ซึ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้วไปออกทางที่ดินของนางดอกไม้ โดยนายเสงี่ยมและนางดอกไม้ก็มิได้หวงห้ามแต่อย่างใด ทางที่สองโจทก์สามารถออกทางที่ดินของนางประหยัดได้ ซึ่งนายเสงี่ยมเบิกความว่านางประหยัดไม่เคยหวงห้ามคนเดิน และทางที่สาม คือ ทางพิพาทนั้น โจทก์เพิ่งมาใช้ในภายหลังเพราะก่อนที่นายเสงี่ยมจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ นายเสงี่ยมได้ปลูกกอไผ่ไว้ตลอดแนว นายเสงี่ยมได้ไถกอไผ่ดังกล่าวออกก่อนขายให้โจทก์เพียง 1 ปี ดังนั้น เมื่อโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านทางที่ดินของนายเสงี่ยม นางดอกไม้และนางประหยัดซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้หวงห้ามโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเดือดร้อนและเสียหาย และถ้าหากให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก อันจะทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 เปิดทางจำเป็นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share