คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตั๋วแลกเงินระบุว่า ธนาคาร ฮ.เป็นผู้รับเงิน มีชื่อบริษัทจำเลยและตราบริษัท กับลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยอีกแห่งหนึ่งอันหมายความถึงการรับรองตั๋วแลกเงินจึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ่ายหาจำต้องมีข้อความระบุว่า’ผู้จ่าย’ ด้วยไม่ ส่วนบริษัทค.ซึ่งในตั๋วแลกเงินมีระบุชื่อบริษัทดังกล่าวและลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการด้วย จึงต้องถือว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้สั่งจ่าย และไม่จำต้องมีข้อความเขียนว่า ‘ผู้สั่งจ่าย’เช่นกัน
ธนาคาร ฮ. ผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นผู้ทรงได้สลักหลังให้ธนาคาร ก. จัดการแทน และธนาคาร ก. ได้สลักหลังต่อไปยังโจทก์ในฐานะจัดการแทน โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินและจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นได้ทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 925 โจทก์จึงมีสิทธิติดตามทวงถามเงินตามตั๋วแลกเงินและฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 บริษัทโคโมรี่พริ้นติ้ง แมชินเนอรี่ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่นได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 48,400,000 เยนญี่ปุ่นในวันที่ 20มีนาคม 2522 ให้กับธนาคารโฮกุริกุ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการออกเพื่อสั่งให้จำเลยรับรองและจ่ายเงินตามตั๋วเพื่อชำระหนี้แก่ บริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้ง แมชีนเนอรี่ จำกัดโดยให้จ่ายเงินตามตั๋วให้แก่ธนาคารโฮกุริกุ จำกัด ธนาคารตัวแทนของบริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้ง แมชินเนอรี่ จำกัด ในฐานะผู้รับเงินตามตั๋ว แต่ธนาคารโฮกุริกุ จำกัด ได้สลักหลังตั๋วแลกเงินให้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ ให้ดำเนินการแทน ซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้จัดให้จำเลยรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว และตั๋วแลกเงินฉบับนี้จะถึงกำหนดชำระเงินตามตั๋วในวันที่ 20 มีนาคม 2522 ต่อมาเมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดชำระเงินปรากฏว่าจำเลยในฐานะผู้จ่ายเงินและรับรองตั๋วแลกเงินกลับผิดนัดไม่ยอมชำระเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นให้กับธนาคารกรุงเทพจำกัดบริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้ง แมชินเนอรี่ จำกัด ได้มอบหมายได้โจทก์เป็นผู้ติดตามเรียกให้จำเลยชำระงเินตามตั๋วธนาคารกรุงเทพ จำกัด จึงได้สลักหลังตั๋วแลกเงินให้กับโจทก์จัดการแทน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินโดยชอบขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,860,427.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 4,910,785 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตั๋วแลกเงินฉบับคำแปลท้ายฟ้องไม่มีข้อความอันเป็นคำสั่งให้จ่ายเงิน ไม่ได้ระบุว่าใครคือผู้สั่งจ่ายใครคือผู้จ่าย ใครคือผู้รับเงิน ใครคือผู้รับรองตั๋วแลกเงินไม่ระบุวันชำระเงินและสถานที่ชำระเงิน ทั้งการที่บริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้ง แมชินเนอรี่ จำกัดเป็นผู้สั่งจ่าย และผู้รับเงินในขณะเดียวกันจึงไม่ใช่ตั๋วแลกเงินตามกฎหมายโจทก์บรรยายฟ้องว่าธนาคารโฮกุริกุ จำกัด ได้สลักหลังตั๋วแลกเงินให้ธนาคารกรุงเทพจำกัด ดำเนินการแทน ดังนั้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด จึงไม่มีอำนาจที่จะสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปให้โจทก์ได้อีก โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงตั๋วเงินตามกฎหมายเพราะโจทก์เป็นเพียงผู้รับสลักหลังในฐานะจัดการแทนธนาคารกรุงเทพ จำกัด เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,545,776 บาท 77 สตางค์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของเงินจำนวน 4,910,785 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นมากกว่านี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาเป็นข้อที่สองว่า ตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยกล่าวอ้างเป็นข้อแรกว่าตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่ได้ระบุว่าเป็นคำสั่งของผู้สั่งจ่ายให้จำเลยจ่ายเงินแก่ผู้รับเงินข้อความที่ว่า ‘ในวันที่ 120นับจากวันที่ลงในใบตราส่งของตั๋วแลกเงินฉบับแรกของตั๋วแลกเงินสำรับนี้จ่ายให้แก่ธนาคารโฮกุริกุ จำกัด หรือตามคำสั่งจำนวนเงินสี่สิบแปดล้านสี่แสนเยนญี่ปุ่นเท่านั้น’ ไม่ใช่คำสั่งของผู้สั่งจ่ายสั่งให้ผู้จ่าย จ่ายเงิน ซึ่งโจทก์ก็เบิกความว่าตามตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่มีข้อความสั่งให้จำเลยจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินและนายยรรยง โตเต็มโชคชัยการพยานโจทก์ก็เบิกความว่าตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่มีข้อความว่าใครจ่ายใครไม่ใช่ตั๋วเงิน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามตั๋วแลกเงินรายพิพาทระบุชัดแจ้งว่าธนาคารโอกุริกุ จำกัดเป็นผู้รับเงิน ปรากฏตามข้อความที่ระบุว่า ‘จ่ายให้แก่ธนาคารโฮกุริกุ จำกัด หรือตามคำสั่งจำนวนเงินสี่สิบแปดล้านสี่แสนเยนญี่ปุ่นเท่านั้น’ สำหรับจำเลยนั้นนอกจากมีชื่อบริษัทจำเลยแห่งหนึ่งแล้วยังมีตราบริษัทและลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยอีกแห่งหนึ่งด้วยอันหมายความถึงการรับรองตั๋วแลกเงิน จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ่าย รายการในตั๋วแลกเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 909 (3) ก็ระบุเพียงว่า ‘ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย’ เท่านั้น จะถือว่าต้องมีข้อความระบุว่า ‘ผู้จ่าย’ ด้วยดังที่จำเลยฎีกาย่อมไม่ได้สำหรับบริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้ง แมชินเนอรี่ จำกัด นั้นปรากฏว่าในตั๋วแลกเงินมีระบุชื่อบริษัทดังกล่าวเป็นผู้สั่งจ่ายและไม่จำต้องมีข้อความเขียนว่า ‘ผู้สั่งจ่าย’ ด้วยเพราะมาตรา 909 (3) ไม่ได้บังคับไว้ ทั้งการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองตั๋วแลกเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 937 ย่อมแสกงว่าจำเลยทราบดีว่าจำเลยเอง บริษัทโคโมรี่ ฯ และธนาคารโฮกุริกุ จำกัด อยู่ในฐานะใดในตั๋วแลกเงิน สำหรับคำเบิกความของโจทก์และนายยรรยงพยานโจทก์นั้น เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้ง 2 ปากดังกล่าวโดยตลอดแล้วจะเห็นได้ว่าได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าตั๋วแลกเงินรายพิพาทระบุรายการครบถ้วนตามกฎหมายแล้วว่าผู้ใดเป็นผู้สั่งจ่าย ผู้จ่ายและผู้รับเงิน
จำเลยฎีกาข้อสุท้ายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินรายพิพาทในฐานะจัดการแทนธนาคารกรุงเทพ จำกัด มิใช่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินเพื่อเรียกเก็บในนามของโจทก์เองโจทก์จึงต้องมีใบมอบอำนาจของธนาคาร กรุงเทพ จำกัดมอบหมายให้ฟ้องคดี และโจทก์จะฟ้องคดีในนามตนเองไม่ได้จะต้องฟ้องในนามธนาคาร กรุงเทพ จำกัด หรือบริษัท โคโมรี่ ฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าธนาคาร โฮกุริกุจำกัด ผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินรายพิพาทซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้สลักหลังให้ธนาคาร กรุงเทพ จำกัดจัดการแทน และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้สลักหลังต่อไปยังโจทก์ในฐานะจัดการแทนโจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินและจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นย่อมได้ทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 925 โจทก์จึงมีสิทธิติดตามทวงถามเงินตามตั๋วแลกเงินและฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง
พิพากษายืน.

Share