คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อที่ดินจาก ท. เพื่อใช้ทำเป็นถนนเชื่อมหมู่บ้านจัดสรรในโครงการของจำเลย และได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินว่ายินยอมให้ ท. และที่ดินแปลงที่โจทก์ซื้อจาก ท. ใช้ทางได้ คำว่า”ให้ใช้ทาง” ตามสัญญาดังกล่าวย่อมหมายถึงการให้ใช้ทางได้เป็นปกติวิสัยทั่ว ๆ ไปซึ่งหากจำเลยทำทางขึ้นกว้างยาวเท่าใด คู่สัญญาก็ย่อมมีสิทธิใช้ได้ตามที่จำเลยทำขึ้น การที่จำเลยปิดกั้นทางเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์ให้เหลือเพียง 1 เมตร เพื่อมิให้โจทก์นำรถยนต์เข้าไปสู่ ที่ดินของตนได้ ย่อมเป็นการทำให้สิทธิการใช้ทางตามปกติวิสัยของ โจทก์ลดน้อยลงไม่สะดวกในการใช้ทางที่ทำขึ้นตามปกติวิสัยทั่ว ๆ ไป จึงเป็นการผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 108911 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 127159 ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 108911 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10812 และ 128808 โจทก์ที่ 4 และที่ 5 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 108913 โจทก์ที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 108914และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 130238 โจทก์ที่ 7 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 108915, 128809 และ 128810 โจทก์ที่ 8 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 51352 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 121809 ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 108910 จำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวจากนางสาวทองดี น้อยไม้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2530 โดยขณะที่ทำสัญญาจะซื้อขายกัน นางสาวทองดีกับจำเลยได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันไว้มีสาระสำคัญว่า จำเลยยินยอมให้นางสาวทองดีและที่ดินโฉนดเลขที่ 108909 ถึง 108915 และ 51352 ใช้ทางและต่อเชื่อมเมนไฟฟ้าประปาโดยไม่คิดมูลค่า เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2535 จำเลยได้นำท่อระบายน้ำมาตั้งเรียงปิดกั้นเส้นทางและกีดขวางทางในที่ดินของจำเลยที่ซื้อไปจากนางสาวทองดี ชิดแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าไปในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ และต่อมาประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยได้ก่อรั้วอิฐบล็อกปิดทางเข้าออกของโจทก์ทั้งแปดยาวประมาณ 5 เมตร การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแกล้งให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถเข้าปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ และไม่สามารถใช้ที่ดินแปลงที่จำเลยซื้อจากนางสาวทองดีได้ตามสิทธิที่กำหนดไว้ในสัญญา ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายท่อระบายน้ำและรื้อรั้วอิฐบล็อกพร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่ทางเดินในบริเวณดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ทั้งแปดใช้สอยได้ตามสัญญา

จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงกับนางสาวทองดีเพียงยินยอมให้นางสาวทองดีใช้ที่ดินของจำเลยส่วนที่นางสาวทองดีขายให้แก่จำเลยเป็นทางเดินผ่านเป็นการชั่วคราวเพื่อเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 108909, 108911 ถึง 108915 และ 51352 เท่านั้น ซึ่งในที่ดินดังกล่าวไม่มีสิ่งปลูกสร้างและไม่มีการใช้รถยนต์เข้าออกมาก่อนเป็นการตกลงยินยอมให้เฉพาะตัวนางสาวทองดีใช้เดินไปมาซึ่งเป็นทางกว้างไม่เกิน 1 เมตร จำเลยก็ได้เปิดทางให้นางสาวทองดีใช้ตามข้อตกลงจนถึงปัจจุบัน โจทก์ทั้งแปดเป็นผู้รับโอนที่ดินจะอ้างสิทธิของนางสาวทองดีได้เพียงเป็นทางเดินกว้างไม่เกิน 1 เมตร เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายท่อระบายน้ำและรื้อรั้วอิฐบล็อกที่ปิดกั้นเส้นทางเข้าออกของโจทก์ทั้งแปดและปรับปรุงพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่โจทก์ทั้งแปดใช้สอยได้ตามปกติ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

โจทก์ทั้งแปดฎีกา

ศาลฎีกาพิพากษายืน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายท่อระบายน้ำและรื้อรั้วอิฐบล็อกที่ปิดกั้นเส้นทางเข้าออกของโจทก์ทั้งแปดและปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่โจทก์ทั้งแปดใช้สอยได้ตามปกติ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบและยอมรับกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 108911โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 127159 โดยแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 108911 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 108912และ 128808 (แยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 108912) โจทก์ที่ 4 และที่ 5เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 108913 โจทก์ที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 108914 และ 130238 (แยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 108914) โจทก์ที่ 7 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 108915, 128809 และ 128810 (แยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 51352) โจทก์ที่ 8 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 51352 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดได้ซื้อที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 108910 จากนางสาวทองดี น้อยไม้ และได้มีการทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.36 ต่อมาจำเลยนำท่อระบายน้ำไปวางปิดกั้นขวางทางเข้าออกรวมทั้งก่ออิฐปิดกั้นทางเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์ทั้งแปดที่ดินของโจทก์ทั้งแปดและส่วนที่จำเลยซื้อไปจากนางสาวทองดีเดิมเป็นที่ดินรวมอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 51352 ของโจทก์ที่ 8 มาก่อน โดยโจทก์ที่ 8 แบ่งให้นางสาวทองดีก่อนที่นางสาวทองดีจะขายให้จำเลย เมื่อจำเลยซื้อที่ดินไปจากนางสาวทองดีได้นำที่ดินไปทำเป็นถนนเชื่อมหมู่บ้านของจำเลยที่เป็นโครงการเก่ากับโครงการใหม่ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ว่า ตามสัญญาจะซื้อขายและบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับนางสาวทองดีตามเอกสารหมาย จ.35 และ จ.36 หรือเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 มีผลผูกพันโจทก์ทั้งแปดหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในเบื้องต้นว่าโจทก์ทั้งแปดมีสิทธิจะใช้ทางพิพาท เพียงแต่ยังไม่ชี้ชัดว่าจะใช้ได้ทั้งหมดหรือเพียง 1 เมตร ตามที่จำเลยต่อสู้ ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นนี้ที่จะต้องวินิจฉัยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยนำสืบและมีคำพิพากษาไปตามประเด็นที่ศาลฎีกากำหนดไว้ จึงชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ว่า คำว่า “ให้ใช้ทาง”ตามบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทข้อ 5 เอกสารหมาย ล.5 นั้นหมายความว่า “ให้ใช้ทางตามปกติตามสภาพที่นางสาวทองดีใช้อยู่ในขณะนั้นคือเป็นทางเดินเท้า” ซึ่งมีความหมายว่าทางเดินเท้ากว้าง 1 เมตร เท่านั้นเห็นว่า คำว่า “ให้ใช้ทาง” ตามสัญญาดังกล่าวหมายถึงการให้ใช้ทางได้เป็นปกติวิสัยทั่ว ๆ ไปซึ่งหากจำเลยทำทางขึ้นกว้างยาวเท่าใดคู่สัญญาก็ย่อมมีสิทธิใช้ได้ตามที่จำเลยทำขึ้น การที่จำเลยไปปิดกั้นทางเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์ทั้งแปดให้เหลือเพียง 1 เมตร เพื่อมิให้โจทก์ทั้งแปดนำรถยนต์เข้าไปสู่ที่ดินของตนได้ย่อมเป็นการทำให้สิทธิการใช้ทางตามปกติวิสัยของโจทก์ทั้งแปดลดน้อยลงทำให้โจทก์ทั้งแปดไม่สะดวกในการใช้ทางที่ทำขึ้นตามปกติวิสัยทั่ว ๆ ไป การกระทำของจำเลย จึงเป็นการผิดสัญญาที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share