คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4778/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัด ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งเมื่อบริษัทจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้า และเพื่อทำการกู้ยืมเงินค้ำประกันและรับรองทั้งบุคคลหรือนิติบุคคลเพื่อกิจการค้าของบริษัทดังนั้นการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยมิได้กระทำเพื่อกิจการค้าของบริษัทเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด แม้ตามสัญญาชักส่วนลดเช็คข้อ 1 จะระบุว่า เช็คที่จำเลยที่ 1เสนอให้โจทก์ชักส่วนลดต้องเป็นเช็คของธนาคารในประเทศไทยสั่งจ่ายให้จำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้สินค้าที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่ผู้สั่งจ่ายก็ตามแต่ตามสัญญาข้อ 7 ให้สิทธิโจทก์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาและไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1หลุดพ้นหรือลดน้อยลง เมื่อจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาชักส่วนลดเช็คของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและตามสัญญาค้ำประกันยินยอมให้โจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดใด ๆของสัญญาชักส่วนลดเช็ค โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 4ทราบ และให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ตกลงยินยอมด้วย ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นจากข้อผูกพันและความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังนั้นแม้โจทก์จะรับเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายนำมาชักส่วนลดก็ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ตกลงยินยอมด้วยจำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาชักส่วนลดเช็คกับโจทก์รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาชักส่วนลดเช็คท้ายฟ้องและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้กับโจทก์ รายละเอียด ปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือค้ำประกันท้ายฟ้อง ดังนั้นสัญญาชักส่วนลดเช็คและสัญญาค้ำประกันถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง การที่ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว จึงหาเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดตามสัญญาชักส่วนลดเช็คและตามสัญญากู้ยืมจำนวนเงิน 480,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันชักส่วนลดเช็คเฉพาะเช็คที่ผู้อื่นสั่งจ่ายและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทรงมาชักส่วนลดต่อโจทก์ตามสัญญาเท่านั้น เช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายแล้วนำมาขายลดให้แก่โจทก์ไม่ใช่หนี้ตามสัญญาชักส่วนลดเช็คจำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน และจำเลยที่ 4 มิได้เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ ส่วนจำเลยที่ 3 ขณะที่ทำสัญญาค้ำประกันยังไม่มีหนี้เงินกู้เพียงแต่ทำสัญญาไว้จะให้กู้เงิน สัญญากู้ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบเงินที่กู้ และถ้ามีการกู้เงินกันเป็นคราว ๆจะต้องมีหลักฐานการกู้ยืม หากเป็นการนำเช็คมาแลกเงินโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องเรียกเงินตามเช็ค จำเลยที่ 3 มิได้ค้ำประกันหนี้ตามเช็คจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้ำประกันหนี้ของบุคคลอื่น เว้นแต่จะค้ำประกันเพื่อกิจการค้าของจำเลยที่ 3 การค้ำประกันหนี้ตามฟ้องเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ร่วมกันชำระเงิน 480,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดเพียง 387,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ชำระเงิน 480,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 4เป็นกรรมการลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 3 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมายจ.4 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2520 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาชักส่วนลดเช็คไว้กับโจทก์ในวงเงิน 250,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาชักส่วนลดเช็คของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.6 และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงิน ในจำนวนเงิน 250,000 บาท ให้โจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.11 จ.12 ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่าสัญญาค้ำประกันตามฟ้องอยู่นอกวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 3ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนและนอกประเด็นที่คู่ความอุทธรณ์นั้น ปัญหาแรกมีว่า จำเลยที่ 3จะต้องร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัด ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 บริษัทจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้า และข้อ 3(10) เพื่อทำการกู้ยืมเงินค้ำประกันและรับรองทั้งบุคคลหรือนิติบุคคล เพื่อกิจการค้าของบริษัทดังนั้นการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 มิได้กระทำเพื่อกิจการค้าของบริษัท เป็นการกระทำนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเฉพาะเช็คที่ผู้อื่นสั่งจ่ายแก่จำเลยที่ 1 เช็คที่จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายและนำไปขายชักส่วนลดกับโจทก์ตามฟ้อง เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงของสัญญาชักส่วนลดเช็ค โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ทราบจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้น เห็นว่า ตามสัญญาชักส่วนลดเช็ค เอกสารหมาย จ.5โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากันให้โจทก์มีสิทธิชักส่วนลดเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาให้โจทก์ชักส่วนลดเป็นจำนวนในเวลาหนึ่ง ๆไม่เกิน 250,000 บาท ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันแม้ตามสัญญาข้อ 1จะระบุว่า เช็คที่จำเลยที่ 1 เสนอให้โจทก์ชักส่วนลดต้องเป็นเช็คของธนาคารในประเทศไทยสั่งจ่ายให้จำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้สินค้าที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่ผู้สั่งจ่ายก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 7ยังให้สิทธิโจทก์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญา และไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 หลุดพ้นหรือลดน้อยลง จำเลยที่ 4ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาชักส่วนลดเช็คของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.6 โดยไม่จำกัดจำนวนและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและตามสัญญาข้อ 6 ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดใด ๆ ของสัญญาชักส่วนลดเช็คได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ทราบ และให้ถือว่าจำเลยที่ 4ได้ตกลงยินยอมด้วย ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นจากข้อผูกพันและความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน หนี้ตามสัญญาชักส่วนลดเช็คเป็นหนี้ในอนาคตและมีเงื่อนไขซึ่งประกันได้และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้โจทก์จะรับเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายนำมาชักส่วนลด ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ตกลงยินยอมด้วยจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องไม่ได้ยกเป็นประเด็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงของสัญญาชักส่วนลดเช็คมาในฟ้อง ศาลยกเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามสัญญาท้ายฟ้องขึ้นวินิจฉัยเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นนั้นเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาชักส่วนลดเช็คกับโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาชักส่วนลดเช็คท้ายฟ้องและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้กับโจทก์รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง ดังนั้นสัญญาชักส่วนลดเช็คและสัญญาค้ำประกันถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว ไม่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4ร่วมรับผิดชดใช้เงิน 480,800 บาท จำเลยที่ 4 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดเพิ่มขึ้นตามฎีกาที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างแต่อย่างใดจึงไม่มีปัญหาที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share