คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4772/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อกำหนดว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันหรือปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน หรือโจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระไม่ตรงตามงวดโดยที่โจทก์มิได้โต้แย้ง แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอางวดหรือระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสิ่งสำคัญในการชำระค่าเช่าอันเป็นการทำให้ผิดสัญญาเช่าซื้อ ถือว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์ยึดรถยนต์สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เลิกกัน ต่อมาโจทก์ยึดรถยนต์คืนโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายคู่สัญญาต้องคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยที่ 1 รับผิดเพียงชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกัน ร่วมกันชำระเงินจำนวน 373,808 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 243,808 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลา บางงวดชำระไม่ครบถ้วน แต่โจทก์ยอมรับเงินค่าเช่าซื้อไว้ไม่ได้โต้แย้ง กำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อจึงไม่ถือเป็นสาระสำคัญ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 87-7946 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ในราคาเช่าซื้อ 1,426,800 บาท ชำระในวันทำสัญญา150,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระ 48 งวด งวดละเดือน เดือนละ 26,600 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 8 มีนาคม 2534 และงวดถัดไปชำระทุกวันที่ 8 ของเดือนถัดไปจนครบถ้วนโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ภายหลังทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 7 งวด เป็นเงิน 193,000 บาท คงค้างชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 8ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2535 โจทก์ได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแล้วขายรถยนต์พิพาทไปในราคา 839,992 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.6 รถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์นี้ จำเลยที่ 1 ได้ต่อกระบะและเครื่องยกไฮดรอลิกตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.11 รถยนต์พิพาทมีราคาเป็นเงินสด 990,000 บาท และในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.13

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่าแม้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 และ 6 กำหนดว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดกัน หรือปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันหรือโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ก็ตาม เมื่อโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อหลังจากที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดตามที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1ถึง ล.9 นั้น โดยที่โจทก์มิได้โต้แย้งไว้ว่ารับชำระเงินไว้เพื่อบรรเทาความเสียหายในการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อแล้ว แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอางวดหรือระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสำคัญในการชำระค่าเช่าอันเป็นการทำให้ผิดสัญญาเช่าซื้อ กรณีดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และที่โจทก์อ้างว่าก่อนที่โจทก์ยึดรถยนต์พิพาท โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ทั้งด้วยวาจาและเป็นหนังสือด้วยนั้นโจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์ยึดรถยนต์พิพาทแล้วสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เลิกกัน เมื่อต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม2535 โจทก์ได้ยึดรถยนต์พิพาทคืนโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งเช่นนี้พฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันดังกล่าว คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ของโจทก์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่มีเพราะมิได้เป็นการเลิกสัญญาต่อกันโดยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อวันที่22 ตุลาคม 2535 และจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2534 จนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2535 เห็นได้ว่าโจทก์ย่อมเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์ในระยะเวลานั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นเงิน 130,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 1 ต่อเติมกระบะบรรทุกและเครื่องยกไฮดรอลิกในรถพิพาทกระบะบรรทุกและเครื่องยกไฮดรอลิกดังกล่าวย่อมตกเป็นส่วนควบของรถพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ประธาน โจทก์จึงต้องชดใช้ค่าราคาทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย เนื่องจากกระบะบรรทุกและเครื่องดั๊มพ์เป็นทรัพย์ที่ต้องเสื่อมสภาพและเสื่อมราคาเพราะการใช้ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดราคาเป็นเงิน 170,000 บาท เป็นราคาที่สมควรแล้ว ดังนั้น เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว หนี้ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วปรากฏว่า มีจำนวนมากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายเพราะการเลิกสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share