คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ภาษีธุรกิจเฉพาะมิใช่ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่เป็นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา91/2(6)ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร(ฉบับที่244)พ.ศ.2534ซึ่งบังคับให้ผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ตกอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งภาษีประเภทนี้มิใช่เป็นภาษีหักณที่จ่ายแต่เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการจะต้องไปยื่นชำระภายในวันที่15ของเดือนถัดไปตามประมวลรัษฎากรมาตรา91/10เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่2ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งเกิดจากลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์เองแม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่2กำหนดให้ค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมดออกกันคนละครึ่งก็จะแปลให้จำเลยที่2ต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะครึ่งหนึ่งด้วยไม่ได้เพราะเท่ากับให้จำเลยที่2ต้องชำระภาษีในกิจการของโจทก์นอกเหนือไปจากภาษีที่ต้องจ่ายในขณะที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยข้อตกลงข้อ 1 ใจความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจะซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์และเมื่อจำเลยที่ 2 ชำระราคาครบถ้วนแล้ว โจทก์จะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมดและค่าใช้จ่ายต่าง ๆในการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์กับจำเลยที่ 2 ออกคนละครึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุด
โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยมีค่าฤชาธรรมเนียม ค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ 4 รายการ คือ 1. ค่าธรรมเนียมในการโอน2. ค่าอากร 3. ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย4. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมจ่ายค่าภาษีอากรรายการที่ 3 และที่ 4 อีกครึ่งหนึ่งขอให้ชี้ขาดเพื่ออธิบายว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในเงินดังกล่าวอีกครึ่งหนึ่งหรือไม่ส่วนจำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ค่าภาษีอากรรายการที่ 3 และที่ 4ตามคำร้องของโจทก์นั้นเป็นหน้าที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะต้องจ่ายเองจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องออกค่าภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะฝ่ายละครึ่งตามข้อตกลง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ยอมจ่ายค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายครึ่งหนึ่ง แต่ภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นไม่มีการเรียกเก็บ ณ สำนักงานที่ดินในวันโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมไม่ได้หมายถึงภาษีชนิดนี้ด้วย ขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้จำเลยที่ 2 ออกเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะคนละครึ่งกับโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว ยังไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสองคำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีได้ความว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ข้อ 1 ตอนท้ายระบุว่า”หากจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ชำระเงินครบถ้วน ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม ค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมด และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์นั้นโจทก์กับจำเลยที่ 2 ออกกันคนละครึ่ง” มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จำเลยที่ 2ต้องออกค่าภาษีธุรกิจเฉพาะครึ่งหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะมิใช่ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่เป็นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(6) ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ซึ่งบังคับให้ผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ตกอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งภาษีประเภทนี้มิใช่เป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายแต่เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการจะต้องไปยื่นชำระภายในวันที่ 15ของเดือนถัดไป ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/10 เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเป็นผู้รับผิดชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งเกิดจากลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์เอง แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 กำหนดให้ค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมดออกกันคนละครึ่ง ก็จะแปลให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะครึ่งหนึ่งด้วยไม่ได้เพราะเท่ากับให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระภาษีในกิจการของโจทก์นอกเหนือไปจากภาษีที่ต้องจ่ายในขณะที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ตามข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดออกค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ

Share