คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะถูกจับกุม น. และ ร. ไม่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลักฐานเหมือนเช่น ส. และ จ. โดยมีเพียงสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างมาแสดงเท่านั้น หนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างดังกล่าวออกโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อรับรองว่า น. และ ร. ทำงานรับจ้างกับ ธ. นายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งแม้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะมิได้กล่าวถึงกรณีที่คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในราชอาณาจักรสามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตทำงานได้หรือไม่ แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2561 ข้อ 4 กำหนดว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้เป็นอันสิ้นผลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (3) ออกนอกเขตท้องที่กรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติหรือจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ดังนี้ เมื่อ น. และ ร. ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานกับนายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น น. และ ร. จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจอีกทั้ง น. และ ร. ได้แจ้งความประสงค์ไว้ในสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างว่าจะเข้ารับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ น. และ ร. กลับว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถจากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย – กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อกลับไปเยี่ยมญาติที่ประเทศกัมพูชาแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ซึ่งการที่ น. และ ร. เดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ และไม่ได้ไปรับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถไปส่งที่ชายแดนไทย – กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 4 (3) จึงมีผลให้การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวสิ้นผลไป การที่จำเลยทั้งสองขับรถกระบะของกลางนำพา น. และ ร. จากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย – กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยรู้อยู่แล้วว่า น. และ ร. เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 5, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83, 92 ริบรถกระบะและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2316/2559, 3748/2559, 577/2560 และ 2273/2560 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 8 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนและข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน 40 วัน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน ให้บวกโทษจำคุก 3 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน และ 3 เดือน ของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2316/2559, 3748/2559, 577/2560 และ 2273/2560 ของศาลชั้นต้นตามลำดับเข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 19 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง แต่ไม่ริบรถกระบะของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ นายนิดและนางสาวรินเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชามีสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างเป็นหลักฐาน โดยนายนิดและนางสาวรินนั่งรถกระบะของกลางที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ และจำเลยที่ 2 นั่งข้างคนขับ จากจังหวัดสมุทรสงครามไปจังหวัดจันทบุรี แล้วจำเลยทั้งสองกับนายนิดและนางสาวรินถูกเจ้าพนักงานตำรวจประจำสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดจันทบุรีจับกุมที่บริเวณถนนสายอำเภอมะขาม – เขาคิชฌกูฏ บ้านท่าระม้า ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ ให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า ขณะถูกจับกุม นายนิดและนางสาวรินไม่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลักฐานเหมือนเช่นนายโสพาด และนางสาวจันนี โดยมีเพียงสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างมาแสดงเท่านั้น ซึ่งนายอนุพงค์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการสำนักงานจัดหางานจังหวัดจันทบุรี ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า หนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างดังกล่าวออกโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อรับรองว่า นายนิดและนางสาวรินทำงานรับจ้างกับนายธำรงค์ นายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งแม้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะมิได้กล่าวถึงกรณีที่คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในราชอาณาจักรสามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตทำงานได้หรือไม่ แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2561 ข้อ 4 กำหนดว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้เป็นอันสิ้นผลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (3) ออกนอกเขตท้องที่กรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติหรือจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ดังนี้ เมื่อนายนิดและนางสาวรินได้รับการผ่อนผันให้ทำงานกับนายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น นายนิดและนางสาวรินจึงไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจอีก ทั้งนายนิดและนางสาวรินได้แจ้งความประสงค์ไว้ในสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างว่าจะเข้ารับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความตามถ้อยคำของนายนิดและนางสาวรินว่านายนิดและนางสาวรินว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถจากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย – กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อกลับไปเยี่ยมญาติที่ประเทศกัมพูชาแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ซึ่งการที่นายนิดและนางสาวรินเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ และไม่ได้ไปรับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถไปส่งที่ชายแดนไทย – กัมพูชาอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 4 (3) จึงมีผลให้การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวสิ้นผลไป
ปัญหาต่อไปว่า จำเลยทั้งสองขับรถกระบะของกลางนำพานายนิดและนายสาวรินจากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย – กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยรู้หรือไม่ว่านายนิดและนางสาวรินเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย นั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกหฤษฏ์และร้อยตำรวจเอกวรรณชัยพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความยืนยันว่าก่อนที่จำเลยทั้งสองจะถูกจับกุม รถยนต์ที่ร้อยตำรวจเอกหฤษฏ์ใช้ขับไล่ติดตามรถกระบะของจำเลยทั้งสองเป็นรถยนต์ทะเบียนตราโล่ 67750 มีสัญลักษณ์ตำรวจที่ประตูหน้ารถทั้งสองข้างและท้ายรถมีข้อความว่า ต.ม. จังหวัดจันทบุรี กับมีไซเรนและเครื่องขยายเสียงติดรถดังกล่าว โดยเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะของกลางผ่านจุดที่ดักรออยู่ ร้อยตำรวจเอกหฤษฏ์ได้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้จำเลยทั้งสองหยุดรถเพื่อขอตรวจค้น แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมหยุดรถให้ตรวจและเร่งเครื่องยนต์ขับหลบหนีเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จนดาบตำรวจจำรัสต้องใช้อาวุธปืนยิงยางล้อหน้าและล้อหลังเพื่อสกัดให้จำเลยที่ 1 หยุดรถอันเป็นการแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่า จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่านายนิดและนางสาวรินที่โดยสารมาในรถกระบะของจำเลยที่ 1 เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและรถยนต์ที่กำลังขับไล่ติดตามรถกระบะของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมหยุดรถให้ตรวจค้นแต่โดยดีและขับรถหลบหนีเช่นนี้ก็เป็นเพราะกลัวถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีนั่นเอง หาใช่ว่าจำเลยทั้งสองไม่รู้ว่านายนิดและนางสาวรินเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไม่
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อสู้ว่า นายนิดและนางสาวรินมีสำเนาประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) มาแสดงว่านายนิดและนางสาวรินเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมาย นายนิดและนางสาวรินจึงสามารถเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้นั้น เห็นว่า สำเนาบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ระบุไว้ชัดว่า มีการออกบัตรในวันที่ 21 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังการกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 แสดงว่านายนิดและนางสาวรินไปทำบัตรสีชมพูหลังจากเกิดเหตุคดีนี้แล้ว มิใช่ว่านายนิดและนางสาวรินมีบัตรสีชมพูมาแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแต่ขณะถูกจับกุม พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้มั่นคงว่าจำเลยทั้งสองขับรถกระบะของกลางนำพานายนิดและนางสาวรินจากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย – กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยรู้อยู่แล้วว่านายนิดและนางสาวรินเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้ออื่นไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share