แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำนั้น ต้องพิจารณาว่างานที่ลูกจ้างทำล่วงเวลาหรือล่วงเวลาในวันหยุดเป็นงานที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2549 ข้อ 40 (1) ถึง (7) ซึ่งอาจจะเป็นงานที่มีลักษณะและสภาพของงานเช่นเดียวกับงานที่ลูกจ้างทำในวันและเวลาทำงานปกติหรือไม่ก็ได้ ประกาศข้อดังกล่าว หาได้กำหนดให้งานที่ลูกจ้างทำในวันและเวลาทำงานปกติกับงานที่ลูกจ้างทำล่วงเวลาหรือล่วงเวลาในวันหยุดต้องต่างกันแต่อย่างใดไม่ ทั้งงานใดจะเป็นงานตามข้อ 40 (1) ถึง (7) ต้องพิจารณาที่ลักษณะและสภาพของงานนั้น ๆ เป็นสำคัญ นายจ้างหามีสิทธิกำหนดให้งานหนึ่งงานใดเป็นงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ไม่
งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็น หมายถึงลักษณะหรือสภาพงานที่ลูกจ้างทำนั้น ลูกจ้างต้องประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่ เมื่อมีงานตามหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นขึ้นแล้ว ลูกจ้างจึงจะมีหน้าที่ไปปฏิบัติงานดังกล่าว หากไม่มีงานที่เป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเกิดขึ้น ลูกจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงาน คงเพียงแต่ประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่เท่านั้น เมื่อแผนกสื่อสารมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับเรือสินค้าที่เข้ามาใช้บริการในเขตร่องน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล การตรวจสอบความถูกต้องและบันทึกข้อมูลเรือสินค้า ควบคุมข่ายการสื่อสารของ กทท. เฝ้าฟังและติดต่อสื่อสารกับเรือสินค้า และให้บริการข้อมูลในระบบบริการเรือทางโทรศัพท์แก่หน่วยงานเกี่ยวข้องในระบบบริการเรือ เช่นนี้ลักษณะงานและสภาพงานของแผนกสื่อสารและที่โจทก์ปฏิบัติในเวลาทำงานปกติและในเวลาทำงานล่วงเวลาเป็นงานที่ต้องให้บริการท่าเรือตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่งานที่ลูกจ้างต้องอยู่ประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่ เมื่อมีงานตามหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเกิดขึ้นแล้ว ลูกจ้างจึงจะมีหน้าที่ไปปฏิบัติงาน งานที่โจทก์ทำจึงมีลักษณะเป็นงานทั่วไป หาใช่งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็นไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ส่วนที่ยังขาดอยู่และดอกเบี้ยรวม 658,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 633,218 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาที่ค้างชำระ 658,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 633,218 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงที่ยุติในสำนวนได้ความว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยและเกษียณอายุวันที่ 30 กันยายน 2559 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าแผนกสื่อสาร กองบริการท่า ท่าเรือกรุงเทพ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามใบกำหนดคุณลักษณะของงาน โดยงานที่โจทก์รับผิดชอบตามเอกสารดังกล่าวด้านสื่อสารนั้น กำหนดว่า “รับผิดชอบในการติดต่อสื่อสารกับเรือที่ใช้ท่าเรือและหน่วยวิทยุของการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และตามหลักวิชาการ ควบคุมดูแลการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องอุปกรณ์สื่อสารในแผนก ควบคุมดูแลการแจ้งสัญญาณอัคคีภัยและภัยอื่น ๆ” ในวันทำงานปกติ โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติงานให้บริการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับเรือสินค้าที่เข้ามาใช้บริการในเขตร่องน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งประกอบด้วยสถานีสื่อสารจำนวน 2 สถานี เครื่องรับส่งวิทยุ VHF/FM ชนิดติดตั้งประจำที่จำนวน 6 เครื่อง ระบบ VTMS จำนวน 2 ชุด ระบบ CCTV จำนวน 2 ชุด และหมายเลขโทรศัพท์จำนวน 2 เครื่อง สำหรับให้บริการด้านข้อมูลเรือสินค้าผ่านเข้าและออกจากร่องน้ำเจ้าพระยากับผู้ใช้บริการทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก รวมทั้งการตรวจสอบความถูกต้องและบันทึกข้อมูลเรือสินค้าในระบบ VCMS จำเลยมีระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่าด้วยการทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด โดยได้รับเงินตอบแทนการทำงาน พ.ศ.2555 ซึ่งระเบียบดังกล่าวข้อ 6 กำหนดว่า “งานที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ พนักงานไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการทำงาน การทำงานล่วงเวลา ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน 6.1 … 6.6 งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็น” และข้อบังคับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการทำงาน การทำงานล่วงเวลา และค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ.2555 โดยข้อบังคับดังกล่าวข้อ 11 กำหนดว่า “พนักงานซึ่งได้รับคำสั่ง หรือได้รับอนุมัติให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 8 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามข้อ 10 แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินในอัตราเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ 11.1… 11.6 งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็น” ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาและล่วงเวลาในวันหยุดครั้งละ 7 ชั่วโมง โดยให้ทำหน้าที่แม่ข่าย ควบคุมระบบ AIS (Automatic Identification system) และ VHF Marine (Very High Frequency) ช่อง 16 มีขอบเขตหน้าที่ในการควบคุมข่ายการสื่อสารของ กทท. เฝ้าฟังและติดต่อสื่อสารกับเรือสินค้าในความถี่ Marine Band ช่อง 16 และควบคุมระบบ AIS ณ สถานีสื่อสารกรุงเทพ หรือให้ทำหน้าที่ VHF Marine ช่อง 14 ระบบ VCMS (Vessel Cargo Management System) และโทรศัพท์ มีขอบเขตหน้าที่ในการเฝ้าฟังติดต่อสื่อสารกับเรือสินค้าในความถี่ Marine Band ช่อง 14 กับเรือสินค้า และให้บริการข้อมูลในระบบบริการเรือทางโทรศัพท์กับหน่วยงานเกี่ยวข้องในระบบบริการเรือ รวมทั้งป้อนข้อมูลในระบบ VCMS ณ สถานีสื่อสารกรุงเทพ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า งานที่โจทก์ทำเป็นงานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็น ที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามข้อบังคับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการทำงาน การทำงานล่วงเวลา ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ.2555 ข้อ 11.6 และประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2549 ข้อ 40 (7) หรือไม่ เห็นว่า ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดแต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำนั้นต้องพิจารณาว่างานที่ลูกจ้างทำล่วงเวลาหรือล่วงเวลาในวันหยุดเป็นงานที่กำหนดไว้ ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2549 ข้อ 40 (1) ถึง (7) ซึ่งอาจจะเป็นงานที่มีลักษณะและสภาพของงานเช่นเดียวกับงานที่ลูกจ้างทำในวันและเวลาทำงานปกติหรือไม่ก็ได้ ประกาศข้อดังกล่าวหาได้กำหนดให้งานที่ลูกจ้างทำในวันและเวลาทำงานปกติกับงานที่ลูกจ้างทำล่วงเวลาหรือล่วงเวลาในวันหยุดต้องต่างกันแต่อย่างใดไม่ ทั้งงานใดจะเป็นงานตามข้อ 40 (1) ถึง (7) ต้องพิจารณาที่ลักษณะและสภาพของงานนั้น ๆ เป็นสำคัญ นายจ้างหามีสิทธิกำหนดให้งานหนึ่งงานใดเป็นงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกาได้ไม่ สำหรับคดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาว่า ลักษณะการทำงานล่วงเวลาของโจทก์ในวันทำงานปกติและในวันหยุดนั้น ไม่ได้แตกต่างกับการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติของโจทก์ จึงต้องพิจารณาว่างานตามใบกำหนดคุณลักษณะของงาน กับงานที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ทำงานล่วงเวลา เป็นงานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นด้วยกับความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่วินิจฉัยว่า งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็น หมายถึงลักษณะหรือสภาพงานที่ลูกจ้างทำนั้น ลูกจ้างต้องประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่ เมื่อมีงานตามหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นขึ้นแล้ว ลูกจ้างจึงจะมีหน้าที่ไปปฏิบัติงานดังกล่าว หากไม่มีงานที่เป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเกิดขึ้น ลูกจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงาน คงเพียงแต่ประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่เท่านั้น ดังนี้เมื่อแผนกสื่อสารมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับเรือสินค้าที่เข้ามาใช้บริการในเขตร่องน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งประกอบด้วยสถานีสื่อสารจำนวน 2 สถานี เครื่องรับส่งวิทยุ VHF/FM ชนิดติดตั้งประจำที่จำนวน 6 เครื่อง ระบบ VTMS จำนวน 2 ชุด ระบบ CCTV จำนวน 2 ชุด และหมายเลขโทรศัพท์จำนวน 2 เครื่อง สำหรับให้บริการด้านข้อมูลเรือสินค้าผ่านเข้าและออกจากร่องน้ำเจ้าพระยาแก่ผู้ใช้บริการทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก รวมทั้งการตรวจสอบความถูกต้องและบันทึกข้อมูลเรือสินค้าในระบบ VCMS และเมื่อโจทก์ทำงานล่วงเวลาและล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์ทำหน้าที่ในการควบคุมข่ายการสื่อสารของ กทท. เฝ้าฟังและติดต่อสื่อสารกับเรือสินค้าในความถี่ Marine Band ช่อง 16 และควบคุมระบบ AIS ณ สถานีสื่อสารกรุงเทพ กับทำหน้าที่ในการเฝ้าฟังติดต่อสื่อสารกับเรือสินค้าในความถี่ Marine Band ช่อง 14 กับเรือสินค้า และให้บริการข้อมูลในระบบบริการเรือทางโทรศัพท์แก่หน่วยงานเกี่ยวข้องในระบบบริการเรือ รวมทั้งป้อนข้อมูลในระบบ VCMS ณ สถานีสื่อสารกรุงเทพ เช่นนี้ลักษณะงานและสภาพงานของแผนกสื่อสารและที่โจทก์ปฏิบัติในเวลาทำงานปกติและในเวลาทำงานล่วงเวลาเป็นงานที่ต้องให้บริการท่าเรือตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่งานที่ลูกจ้างต้องอยู่ประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่ เมื่อมีงานตามหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเกิดขึ้นแล้ว ลูกจ้างจึงจะมีหน้าที่ไปปฏิบัติงาน งานที่โจทก์ทำจึงมีลักษณะเป็นงานทั่วไป หาใช่งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็นไม่ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน