คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในขณะที่จำเลยที่ 2 แก้ไขต่อเติมอาคารโดยมิได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 2 นั้น เป็นระยะเวลาที่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ยังใช้บังคับซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจโจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งรับโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ทำการก่อสร้างรื้อถอนอาคาร แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีจะเป็นระยะเวลาที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งมีบทบัญญัติให้อำนาจโจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครองครองนั้นรื้อถอนได้ก็ตามแต่บทบัญญัติดังกล่าวนี้ไม่มีผลย้อนหลังโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รื้อถอนอาคาร และปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีปัญหานี้ขึ้นสู่ศาลฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอน ก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีหลายประการ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมปิดทางเดินด้านหลัง ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของอาคารห้องแถวเลขที่ 281/41 เมื่อระหว่างวันที่29 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2521 จำเลยที่ 2 แก้ไขต่อเติมอาคารดังกล่าวโดยการสร้างปกคลุมที่ว่างทางเดินด้านหลังอาคารโดยมิได้รับอนุญาตการกระทำดังกล่าวฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 เทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2483เทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2515 และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 การก่อสร้างต่อเติมดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ต่อมาวันที่9 พฤษภาคม 2521 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบการกระทำผิดหัวหน้าเขตบางรัก ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนอาคารที่ต่อเติม จำเลยที่ 2 เพิกเฉย หัวหน้าเขตบางรักได้มีหนังสือแจ้งความร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 5,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารดังกล่าว หัวหน้าเขตบางรักได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขอาคารให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 เพิกเฉยหัวหน้าเขตบางรักมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม และข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารจำเลยที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคาร เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2521หัวหน้าเขตบางรัก ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2523ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารที่ต่อเติม ดังนี้ ขณะที่ทำการก่อสร้างต่อเติม และจำเลยที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากจำเลยที่ 2 เป็นระยะเวลาที่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช2479 ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479 ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจโจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งรับโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ทำการก่อสร้าง แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นระยะเวลาที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งมาตรา 40, 42แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้อำนาจโจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นได้ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาที่ 4163/2529ระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โจทก์ นายไพฑูรย์เนาวรัตโนภาส กับพวก จำเลย ได้พิพากษาเป็นแบบอย่างไว้แล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รื้อถอนอาคาร แม้จะไม่มีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน สมควรยกขึ้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ”

Share