แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้ง 5 คนสมคบกันทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทงโดยแยกรายละเอียดความผิดเป็นข้อๆ และตามฟ้อง ข้อ ก. ว่าจำเลยที่ 1-2 และ 3 ได้มีเจตนาสมคบกันบังอาจเอาความที่จำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียหายได้นั้น ไปแจ้งและร้องทุกข์แก่จำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ได้ฉ้อโกงทรัพย์อันเป็นความผิดทางอาญาทำให้จำเลยที่ 3 อาศัยอำนาจในตำแหน่งเพื่อทำการทุจริต ซึ่งความจริงโจทก์มิได้ฉ้อโกงทรัพย์จำเลยที่1 เลย’
และตามข้อ ข. ว่า”จำเลยที่ 2-5 ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายได้สมบคบกันบังคับจับโจทก์ไปจากบ้าน ควบคุมกักขังไว้ 1 คืน ยึดถั่วลิสงของโจทก์ไว้ 1 กระสอบ วันรุ่งขึ้นจึงให้ประกันตัวไป ต่อมาจำเลยที่ 3 บังคับให้โจทก์ทำหนังสือรับว่าเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 3 ก่อนที่จะปล่อยตัวโจทก์ไปโดยไม่มีประกันตัว” ดังนี้ฟ้องของโจทก์ ข้อ ก. มีข้อความขัดกันในตัวเอง เป็นคำกล่าวลอยๆไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ทำอะไร อย่างไร ไม่อาจเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามป.วิ.อ.มาตรา 158(5) ส่วนฟ้องของ ข. โจทก์แถลงว่าเป็นความผิดเนื่องจากการกระทำตามฟ้องข้อ ก. ไม่เป็นฟ้องที่ชอบเสียแล้ว ฟ้องข้อข.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยทั้ง 5 คนสมคบกันทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง คือ
(ก) เมื่อวันเดือนใด จำไม่ได้ พ.ศ. 2492 และในวันที่ 24 ตุลาคม 2492 เวลากลางวันจำเลยที่ 1, 2 และ 3 ได้มีเจตนาสมคบกันบังอาจเอาความที่จำเลยที่ 1, 2, 3 รู้อยู่แล้วว่า เป็นความเท็จ ซึ่งอาจทำให้นายห่งเสียหายได้นั้น ไปแจ้งเป็นทางราชการ และร้องทุกข์แก่จำเลยที่ 3 ว่า นายห่ง แซ่ซือ โจทก์คดีนี้ฉ้อโกงทรัพย์เป็นความผิดทางอาญา อันเป็นการที่จำเลยที่ 3 อาศัยอำนาจในตำแหน่งเพื่อกระทำการทุจริต ซึ่งความจริง นายห่ง แซ่ซือโจทก์ในคดีนี้มิได้ฉ้อโกงทรัพย์จำเลยที่ 1 เลย เหตุเกิดที่ตำบลสามปราบ อำเภอเกาะคาจังหวัดลำปาง
(ข) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2492 เวลากลางวัน และกลางคืนต่อกัน จำเลยที่ 2, 3, 4, 5 มิได้มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายได้สมคบกันบังอาจจับ นายห่ง แซ่ซือ โจทก์ไปจากบ้าน ซึ่งเป็นบ้านที่นายห่งอาศัยอยู่ มาควบคุมกักขังไว้ 1 คืนแล้วยึดถั่วลิสงไว้ 19 กระสอบ รุ่งขึ้นจึงได้ประกันตัวไป ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2492 จำเลยที่ 3 บังคับให้นายห่ง แซ่ซือโจทก์ทำหนังสือลงลายมือชื่อเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 3 จึงปล่อยตัวนายห่ง แซ่ซือโจทก์ โดยไม่มีประกันตัวไป เหตุเกิดที่ตำบลสามปราบ กิ่งอำเภอสามปราบ อำเภอเกาะคาจังหวัดลำปาง ขอให้ลงโทษ…”
ศาลชั้นต้นสอบถาม โจทก์แถลงว่า ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำผิดในฟ้องข้อ ข. นั้นเนื่องจากการกระทำผิดในข้อ ก. ศาลชั้นต้นจึงงดไต่สวนมูลฟ้อง แล้วยกฟ้องโจทก์เสียโดยอ้างว่า ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ข้อ 1 ก. มีข้อความขัดกันในตัวเองทั้งที่ว่าจำเลยที่ 3 (ซึ่งเป็นปลัดอำเภอ) อาศัยอำนาจในตำแหน่งเพื่อทำการทุจริต ก็เป็นคำกล่าวลอย ๆ ไม่มีข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ทำอะไรอย่างไร ไม่อาจจะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ คำฟ้องเช่นนี้ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และการกระทำตามฟ้องข้อ 1 ข. นั้นโจทก์แถลงว่า เนื่องจากการกระทำตามฟ้องข้อ 1 ก.เมื่อฟ้องข้อ 1 ก. ไม่เป็นฟ้องที่ชอบเสียแล้ว ก็ฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2, 3, 4, 5 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องชอบแล้ว
พิพากษายืน