คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินสมทบตามข้อบังคับองค์การสะพานปลา ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 ข้อ 11 เป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มิใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีข้อบังคับองค์การสะพานปลาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ (ฉบับที่4) พ.ศ. 2518ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และ 22 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 มีหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายบำเหน็จตามข้อ 11 ให้พนักงานสูงกว่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เป็นการจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานรวมทั้งโจทก์ไปในตัวแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อบังคับองค์การสะพานปลาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 แล้ว เห็นว่าข้อบังคับดังกล่าวออกมาโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 ซึ่งมาตรา 22 วรรคแรกบัญญัติว่า รายได้ที่องค์การสะพานปลาได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินการ ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคาและเงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในองค์การสะพานปลา เงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองขยายงานและเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ ตามมาตรา 22 วรรคแรก ดังกล่าว บังคับให้องค์การสะพานปลาจำเลยต้องมีเงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์แก่ผู้ปฏิบัติงานในองค์การสะพานปลา ซึ่งปรากฏตามข้อบังคับองค์การสะพานปลาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 ข้อ 4, 5 ให้มีกองทุนสำหรับสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในกรณีออกจากตำแหน่งขึ้น เรียกว่า “กองทุนสงเคราะห์” ประกอบด้วย 4.1 เงินสมทบประเภท 1ได้แก่เงินที่องค์การสะพานปลาหักเก็บจากเงินเดือนหรือค่าจ้างของผู้ปฏิบัติงาน4.2 เงินสมทบประเภท 2 ได้แก่เงินที่องค์การสะพานปลาจ่ายสมทบ 4.3 ดอกผลที่เกิดจากเงินในกองทุนสงเคราะห์ จะเห็นได้ว่าองค์การสะพานปลาจำเลยต้องถูกบังคับโดยกฎหมายให้นำรายได้ส่วนหนึ่งขององค์การสะพานปลามาเป็นเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์แก่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งได้แก่ผู้อำนวยการ พนักงานลูกจ้างประจำและลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานองค์การสะพานปลา ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นต้องออกจากตำแหน่ง ซึ่งองค์การสะพานปลาจำเลยต้องถูกบังคับให้จ่ายโดยกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งมีอยู่ก่อน ต่อมาเมื่อมีกฎหมายแรงงานออกใช้บังคับ จำเลยก็ต้องปฏิบัติตาม มิได้มีบทยกเว้นไว้ว่าการจ่ายเงินตามกฎหมายที่จำเลยจ่ายอยู่นั้นจำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานอีก และตามข้อบังคับองค์การสะพานปลาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 ข้อ 4, 5 นั้น มีเงินของผู้ปฏิบัติงานของจำเลยรวมอยู่ด้วย คือเงินสมทบประเภท 1 เงินประเภทนี้ไม่ว่าผู้ปฏิบัติงานของจำเลยออกจากตำแหน่งไม่ว่าเหตุใดก็ตาม ต้องได้รับเงินสมทบประเภทที่ 1 พร้อมด้วยดอกผลตามข้อ 10 และตามข้อ 11 ที่จำเลยอุทธรณ์ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยจะได้รับเงินสมทบประเภท 1 และดอกผล กับเงินสมทบประเภท 2 อีกด้วย หากผู้ปฏิบัติงานของจำเลยพ้นจากตำแหน่งในกรณีสูงอายุคือมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ หย่อนความสามารถ ป่วยไม่สามารถหรือไม่สมควรทำงานต่อไป ให้ออกโดยไม่มีความผิด และต้องทำงานมาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีบริบูรณ์กับลาออกโดยไม่มีความผิด ต้องทำงานไม่น้อยกว่าห้าปีบริบูรณ์การจ่ายเงินให้ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์รวมทั้งระยะเวลาการทำงานแตกต่างกับหลักเกณฑ์วัตถุประสงค์และระยะเวลาในการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็น เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เงินสมทบตามข้อบังคับองค์การสะพานปลาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 ข้อ 11 ตามที่จำเลยอุทธรณ์นั้น เป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มิใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ข้อ 2 และเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วไม่ใช่ค่าชดเชย ก็ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชยตามกฎหมายหรือไม่”

พิพากษายืน

Share