คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7224/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่1และที่3ฉีดยาฆ่าแมลงในนาข้าวเพียง1สัปดาห์ซึ่งขณะนั้นยาดังกล่าวยังไม่ทันสลายตัวหมดก็ว่าจ้างให้ผู้ตายเข้าไปเกี่ยวข้างเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้ตาย ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่1เป็นค่าสินไหมทดแทนที่เป็นตัวเงินจำเลยที่1และที่3จะต้องชำระทันทีที่เกิดการละเมิดโจทก์ที่1จึงมีสิทธิได้รับนับแต่วันนั้นการที่โจทก์ที่1ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหาทำให้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนที่โจทก์ที่1ฟ้องเรียกเป็นค่าขาดไร้อุปการะมาระงับไปไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของนางทองคำแจ่มอำพรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ โจทก์ที่ 2อายุ 3 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 3เป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยทั้งสามมีอาชีพทำนาข้าวเมื่อวันที่ 4 หรือ 5 ธันวาคม 2532 ใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาของจำเลยทั้งสามมีแมลงเพลี้ยกระโดดเข้าทำลายต้นข้าวในนาเสียหายจำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยได้ร่วมกันใช้ยาฝุ่นสารพิษยาฆ่าแมลงชนิดร้ายแรงอันเป็นอันตรายต่อมนุษย์ฉีดลงในนาข้าวของจำเลยทั้งสาม ต่อมาวันที่ 12 และ 13 ธันวาคม 2532 อันเป็นระยะที่สารพิษดังกล่าวยังมีอำนาจร้ายแรงไม่สลายตัว จำเลยทั้งสามจ้างนางทองคำภรรยาของโจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าเก็บเกี่ยวข้าวในนาของจำเลยทั้งสาม โดยปกปิดไม่แจ้งให้ทราบถึงการฉีดยาฆ่าแมลงไว้ นางทองคำและบุคคลอื่นได้สูดสารพิษยาฆ่าแมลงดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายทางลมหายใน มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ เพราะพิษยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะนางทองคำทนต่อสารพิษยาฆ่าแมลงไม่ได้ ได้ล้มป่วยสลบไม่ได้สติ น้ำลายฟูมปากกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกประสาทถูกทำลายไม่ฟื้น ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2533 รวมระยะเวลาที่เจ็บป่วย 3 เดือน11 วัน การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นละเมิด ทำให้นางทองคำถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งสองคือ ค่าปลงศพ 20,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลหมอประเจิด 45,000 บาท โรงพยาบาลสระบุรี 7,920 บาท รวมเป็นค่ารักษาพยาบาล 52,920 บาท ค่าคนเฝ้าไข้ 9,500 บาท ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ทำมาหาได้จากการประกอบอาชีพของผู้ตายวันละ50 บาท เป็นเวลา 3 เดือน 15 วัน เป็นเงิน 5,050 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 47,470 บาท และขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ เป็นเงิน 40,000 บาท รวมค่าเสียหายและขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสามต้องชำระให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน167,470 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 167,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ที่ 1 จะเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางทองคำและเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2หรือไม่ จำเลยทั้งสามไม่ทราบและไม่รับรองจำเลยทั้งสามมีอาชีพทำนาจริง นางทองคำไม่ได้ถึงแก่ความตายเพราะเกี่ยวข้าวในนาของจำเลยทั้งสาม นางทองคำมีอาชีพรับจ้างเกี่ยวข้าวทั่วไป จำเลยทั้งสามไม่เคยพ่นยาฆ่าแมลงอันเป็นอันตรายถึงชีวิตเพราะเป็นฤดูเก็บเกี่ยว นางทองคำถึงแก่ความตายหลังจากมาเกี่ยวข้าวที่นาของจำเลยทั้งสามหลายเดือน ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายตามฟ้องไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดเพราะไม่ได้ทำละเมิดต่อนางทองคำ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายชั้นแจ่มอำพร บิดาของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 และเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 167,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันฉีดยาฆ่าแมลงในนาเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งมารับจ้างเกี่ยวข้าวถึงแก่ความตายหรือไม่ โจทก์มีนายทองคำ ดีมั่น และนางอุไร สุขคำมาเบิกความเป็นประจักษ์พยานได้ความต้องกันว่า ก่อนผู้ตายเข้าไปเกี่ยวข้าวในนาของจำเลยที่ 1 ประมาณ 1 สัปดาห์ เห็นจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 3 ฉีดพ่นยาฆ่าเพลี้ยกระโดดในนาซึ่งเป็นยาแบบฝุ่นเห็นว่า ขณะนั้นนายทองคำกำลังวิดปลาอยู่ในนาที่อยู่ติดกับนาของจำเลยที่ 1 ส่วนนางอุไรกำลังเลี้ยงเป็ดอยู่ในคลองชลประทานห่างจากนาของจำเลยที่ 1 เพียง 1 เส้น และเป็นเวลากลางวันพยานทั้งสองรู้จักจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ดี โดยเฉพาะนางอุไรไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสาม ส่วนนายทองคำแม้จะเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ที่ไปฆ่านายประยูรน้องชายจำเลยที่ 2 แต่ก็เป็นเวลานานมาแล้ว และหลังจากนายทองคำพ้นโทษจำคุกมาต่างก็พูดจากันดีไม่น่าที่จะเบิกความให้ร้ายจำเลยที่ 1นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางละมาย ทุยนวม นายสัมฤทธิ์ แจ่มอำพรนายบุญสม ดีมั่นผู้รับจ้างเกี่ยวข้าวพร้อมกับผู้ตายและนายบรรเจิด สุขวิบูลย์ ที่ทำนาติดกับนาของจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานด้วยว่า ระหว่างที่เกี่ยวข้าวในนาของจำเลยที่ 1 นั้นที่ต้นข้าวมีฝุ่นยาฆ่าแมลงติดอยู่ ผู้ที่เกี่ยวข้าวแต่ละคนมีอาการปวดศีรษะคลื่นไส้โดยเฉพาะผู้ตายอาการหนักกว่าคนอื่น และยังได้ความจากคำเบิกความของนายสุทัศน์ ชนาวิรัตน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเกษตรอำเภอว่า ในท้องที่อำเภอสามโก้มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด ทางราชการได้จ่ายยา “มิพซิน” ให้แก่ราษฎรไปเพื่อใช้ฉีดพ่นในฤดูการทำนาในปีนั้นด้วย ดังนี้คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวมาย่อมเชื่อได้ว่าเป็นความจริง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบว่าไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลงในนาข้าวนั้นไม่มีน้ำหนัก และเหตุผลให้รับฟังเป็นความจริงได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ร่วมกันฉีดยา “มิพซิน” ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงในนาก่อนจ้างผู้ตายเข้าไปเกี่ยวข้าวประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อปรากฏจากคำเบิกความของนายสุทัศน์ว่า ยาดังกล่าวจะสลายตัวภายหลังฉีด14 วัน หากไม่มีฝนตกจะสลายตัวภายใน 1 เดือน และจากคำเบิกความของนายแพทย์แระสิทธิ์ วงษ์จารุพงษ์ แพทย์ผู้ตรวจรักษาว่าผู้ตายป่วยเนื่องจากถูกพิษยาฆ่าแมลงโดยเฉียบพลัน เช่นนี้ผู้ตายจึงตายเพราะถูกพิษยาฆ่าแมลง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฉีดยาฆ่าแมลงในนาข้าวได้เพียง 1 สัปดาห์ ซึ่งขณะยาดังกล่าวยังไม่ทันสลายตัวหมดก็ว่าจ้างให้ผู้ตายเข้าไปเกี่ยวข้าว เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ตาย ต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ปัญหาต่อไปมีว่า ค่ารักษาพยาบาลผู้ตายที่โรงพยาบาลหมดประเจิดจำนวน 45,000 บาท เป็นความจริงหรือไม่และค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ระงับไปเพราะโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่าผู้ตายได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว และโจทก์ได้เสียค่ารักษาพยาบาลไปตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.5 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าโจทก์ได้เสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนนี้จริง แม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนและมักจะคิดค่ารักษาพยาบาลในอัตราสูง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ สำหรับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1เป็นค่าสินไหมทดแทนที่เป็นตัวเงินจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องชำระทันทีที่เกิดการละเมิด โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับนับแต่วันนั้น การที่โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น หาทำให้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกเป็นค่าขาดไร้อุปการะมาระงับไปไม่
พิพากษายืน

Share