คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างเป็นโจทก์ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยกล่าวหาว่าเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้รับกลับเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิมต่อไป หากไม่สามารถปฏิบัติได้ก็ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย เป็นการฟ้องร้องตามนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงหาใช่เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรมไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้ลูกจ้างต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่าง ใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ได้ปฏิบัติงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 75 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนับแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเป็นลูกจ้างรายวัน มีอายุงานกว่า ๓ ปี กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันศุกร์ ทำงานปกติวันจันทร์ถึงวันเสาร์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าระหว่างทำงานจำเลยได้จัดให้หยุดตามประเพณีปีละ ๑๓ วัน โดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสาม จำเลยไม่ได้กำหนดให้โจทก์ทั้งสามหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ ๖ วันตามกฎหมาย จำเลยให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาจ้างใหม่ กำหนดเวลาการจ้างแน่นอนเป็นช่วง ๆ ละ ๓ เดือน โจทก์ทั้งสามเห็นว่าเป็นสัญญาที่เอาเปรียบลูกจ้างจึงไม่ยอมทำสัญญาใหม่ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างเดิม จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่าโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำงานเป็นช่วง ๆ ตามฤดูกาล การจ้างงานทำเป็นครั้งคราว ในช่วงที่มีงานเท่านั้นเหตุที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาจ้างใหม่ เพื่อให้เป็นระเบียบและสะดวกแก่การควบคุมดูแล โจทก์ทั้งสามไม่พอใจจึงไม่ไปทำงานเองจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามอ้างว่าถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแต่มิได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๔ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจ้างจึงไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปเอง จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อน ประจำปี (ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี) กับค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์เป็นใจความว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่มาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ กำหนด และเป็นการกล่าวอ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) โดยไม่ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา ๑๒๔ เสียก่อน โจทก์จึงไม่อาจดำเนินคดีในศาลแรงงานได้ตามมาตรา ๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีโจทก์ทั้งสามผู้เป็นลูกจ้างฟ้องจำเลยผู้เป็นนายจ้างกล่าวหาว่าเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้รับกลับเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิมต่อไป หากไม่สามารถปฏิบัติดังกล่าวได้ก็ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นการฟ้องร้องตามนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นจึงหาใช่เป็นการกล่าวหาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ อันเป็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรมดังที่จำเลยเข้าใจและยกขึ้นอุทธรณ์ไม่ ทั้งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวก็หาได้มีบทกฎหมายใดกำหนดให้ลูกจ้างต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือ ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงาน ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามที่ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างชั่วคราวทำงานติดต่อกันมาเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีปีละ ๑๓ วัน เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างชั่วคราว ได้ปฏิบัติงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างมาโดยตลอดครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้ว และได้วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนับแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไปตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๗๕ เช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ ๓๒(๒) ได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างประจำเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดตามประเพณีด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๗๕ แล้วโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดตามประเพณีปีละ ๑๓ วัน เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนับแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสำหรับวันหยุดตามประเพณีจำเลยได้จัดให้โจทก์หยุดตามสิทธิแล้วจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ อีกนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่โดยที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยถึงจำนวนวันหยุดตามประเพณีที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องมาตามฟ้องอันเป็นข้อ เท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดเสียเองได้ จึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ในประเด็นเรื่องค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีของโจทก์ทั้งสาม แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปความนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share